จักรภพ เพ็ญแข - รายการจุดเปลียน "จัดกระบวนทัพประชาชน" 27 มีนาคม 2557

วันเสาร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2557

"เปลื้องผ้าและไม่ไทยเลย" หนังสือใหม่ของ "เล็ก-จรรยา ยิ้มประเสริฐ"


“เปลื้องผ้า และไม่ไทยเลย” เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นและบทความที่กลั่นออกมาจากชีวิตจริงๆของผู้คนจริงๆ ที่ผู้อ่านอาจจะรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาว่าจะเคยเห็นผู้คนที่เป็นตัวละครในเรื่อง ซึ่งในชีวิตจริงเราอาจจะไม่รู้ว่าพวกเขาเหล่านั้นเจ็บปวดเท่าไหร่? คิดเห็นอย่างไร? และเยียวยาตนเองอย่างไร? กว่าจะกลับมาลุกขึ้นยืนได้อีกครั้งในวันนี้ แต่ในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ จะฉายภาพให้เราได้เห็นกันว่าผู้หญิงที่ต้องตกอยู่ในห้วงทุกข์ยากลำบาก ทั้งในชีวิตคู่และความสัมพันธ์ทางเพศ ภายใต้บริบทของสังคมจารีตที่กดขี่และตราหน้าผู้หญิงให้ต่ำต้อยด้อยกว่าชาย ว่าพวกหล่อนมีวิธีคิดอย่างไร มีวิธีเยียวยาตนเองอย่างไรเพื่อจะได้หลุดพ้นจากกรอบอันบีบคั้นเหล่านั้น

สังคมจารีตใช่แต่จะกดขี่ผู้หญิงในการใช้ชีวิตคู่เท่านั้น แต่ยังลงลึกไปถึงความสุขหรือไม่สุขสมในเพศสัมพันธ์อีกด้วย โดยที่พวกเธออาจจะไม่รู้ตัวเองเลยด้วยซ้ำ ว่าเพศสัมพันธ์ที่ผ่านไปในทุกค่ำคืนนั้น เป็นความสุขแล้วหรือไม่...?


ใช่แต่สังคมที่อิงศาสนาอย่างเข้มงวดเท่านั้นที่สร้างกรอบบีบบังคับขืนใจหญิงเช่นนี้ สังคมจารีตของไทยก็เช่นกัน ซ้ำบางทีอาจจะทำงานได้อย่างเข้มแข็งกว่าสังคมอิงศาสนาเสียด้วย เพราะสังคมจารีตของไทยไม่เปิดโอกาสให้ใครท้าทายหรือไถ่ถามถึง ขนบ ประเพณีที่เป็นมาของมันเลย การแกล้งทำลืม ละเลือน ยิ่งทำให้หญิงไทยต้องตกอยู่ภายใต้ความทุกข์ทน และความไร้สุขในชีวิตคู่และเพศสัมพันธ์มากขึ้น มากขึ้น ตลอดมา และอาจจะตลอดไป หากพวกหล่อนไม่เรียนรู้ที่จะรู้จักลุกขึ้นมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขด้วยตัวของเธอเอง

“เปลื้องผ้าและไม่ไทยเลย” จะเปิดเผยถึงเส้นทางชีวิตของผู้หญิงไร้สุขที่ต้องตกอยู่ภายใต้กรอบจารีตของสังคมในหลายๆมุมและหลายๆสถานการณ์ และฉายให้เห็นว่าพวกเธอเหล่านั้นทำอย่างไรจึงได้หลุดพ้นจากชีวิตที่ไร้สุขในกรอบจารีตมาสู่ชีวิตที่มีความสุขเปี่ยมด้วยความเชื่อมั่นตนเองในชีวิตไร้กรอบจารีต 

คำว่าเปลื้องผ้าพร้อมภาพหน้าปกที่โป๊เปลือยอาจทำให้หลายคนหลงคิดไปว่าหนังสือเล่มนี้จะมีเพียงความอีโรติก รักๆไคร่ๆในเรื่องเซ็กส์เท่านั้น โดยละเลยที่จะมองไปถึงความหมายที่ว่า “เปลื้องผ้า” นั้นก็คือ การปลดเปลื้องมายาแห่งจารีตที่ปิดกั้นห่อคลุมจิตใจผู้หญิงทั้งหลายออกไปด้วย เมื่อผู้คนสามารถทำลายมายาภาพที่ถูกปลูกฝังกล่อมสมองมานานได้แล้ว ก็ย่อมจะทำให้เขาได้เห็นตัวเอง และได้รู้จักตนเอง ผู้คนที่รู้จักตนเองก็ย่อมจะสามารถเลือกได้ว่าตนจะเดินไปในทางใดที่เป็นความสุข ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตัวของเขาเอง

และแม้เนื้อเรื่องและภาพใน “เปลื้องผ้าและไม่ไทยเลย” จะกล่าวถึงผู้หญิงเสียเยอะ ก็ใช่ว่าผู้ชายจะอ่านไม่ได้ หรืออ่านแล้วจะไม่ได้เรียนรู้อะไร เพราะในสังคมจารีตที่สร้างกรอบสำหรับควบคุมพลเมืองอย่างเข้มแข็ง แน่นหนา ของสังคมไทย แม้ผู้ชายก็ยังติดยึดในกรอบที่ถูกฝังหัวมาเช่นกัน และพวกเขาก็ยังพยายามคงคุณค่าทั้งรักษากรอบจารีตนั้นไว้โดยมิพักฉุกคิดหรือสงสัยว่า กรอบที่ตนยึดมั่นว่าสูงส่งและเพียรพยายามรักษาอยู่นั้นมันทำให้คนที่ตนรักเจ็บปวดหรือเปล่า? มันสร้างการกดขี่และข่มขู่คนอื่นอยู่หรือเปล่า? โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรอบที่ว่า “ความดี ความเป็นคนดี" ในสังคมจารีตของไทย

ในนามแห่งความดี ความเป็นคนดีของไทย เราจะเห็นพวกเขาใช้กรอบอันนี้มาวางกฎระเบียบ ทั้งใช้บังคับ ตีค่าหรือตราหน้าคนอื่นๆที่ไม่ยอมอยู่ในแบบแผนจารีตที่พวกเขาพยายามวางครอบงำสังคมไว้เสมอ และสังคมจารีตที่เข้มข้นอย่างสังคมไทยนี้มันก็มีพฤติการณ์ที่แปลกประหลาดอันหนึ่งคือ เมื่อมีใครคนใดคนหนึ่งหรือสถาบันอันใดอันหนึ่งยกชูคุณค่าบางอย่างที่เขาชอบมาว่าเป็นความดี เขาก็จะสามารถใช้คุณค่าดังกล่าวนั้นมากดขี่ ขู่บังคับและข่มคนอื่นๆในสังคมได้เลยทันที โดยที่ไม่มีการถามหรือปรึกษากันก่อนเลยว่า คุณค่าความดีงามที่เขายกย่องเชิดชูนั้นในความเห็นของคนอื่นๆ คิดว่าเป็นเช่นไร? มันดีจริงๆ หรือมันไม่ดี? มันมีคุณค่าน่ายกย่องหรือมันไร้ค่าจนหาสาระไม่ได้...??

ไม่มีเลยที่สังคมไทยจะมีการไถ่ถามถึงความหมายในคุณค่าความดี-งามต่างๆเช่นนี้ มีแต่โยนลงมาและบังคับใช้กับผู้คนในสังคมเลยเท่านั้น สิ่งนี้บ่มเพาะและปลูกฝังมานานจนเรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมไทยไปเสียแล้ว และตรงนี้มันก็บอกถึงความเป็นสังคมจารีตที่เข้มแข็งเข้มข้นของสังคมนี้ว่าอยู่ในระดับสูงเพียงใด...

(...การติดอันดับโลกของไทยทั้งด้านการท้องก่อนวัย  การทำแท้ง  การติดโรคทางเพศ  และเอดส์   ควรจะทำให้รัฐบาลและสังคมตระหนักว่าที่ผ่านมา  นโยบายในเรื่องสุขภาวะทางเพศที่มีปัญหา ได้นำสู่แนวนโยบายที่ผิดทาง  ที่มุ่งไปที่การควบคุมและคุมเข้มเรื่องการห้ามการมีเพศสัมพันธ์  มากกว่าการให้ทุกสถาบัน  และทุกเพศทุกวัยในสังคมตระหนักถึงความเป็นจริงและความเชื่อมโยงแห่งเสรีภาพวิถีเพศกับการดูแลตัวเองได้อย่างเข้มแข็ง ปลอดภัย และมีความสุข
ทั้งนี้  รัฐควรจะส่งเสริมให้คนในสังคม  รู้จักเซ็กส์ที่ปลอดภัย  และไม่อายที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะแห่งชีวิตคู่และเซ็กส์ที่สุขสม 
ต้องหยุดการห้ามเยาวชนมีเซ็กส์ด้วยข้ออ้างอนุรักษ์นิยม  ด้วยทัศนคติที่มองว่าเยาวชนเป็นกลุ่มเสี่ยง  เป็นกลุ่มที่นำมาซึ่งปัญหาสังคม  จึงต้องถูกสอดส่องในวันสำคัญต่างๆ  อาทิ   วาเลนไทน์  วันลอยกระทง  ทำกันราวกับว่าเยาวชนหญิง-ชายเป็นดั่งอาชญากร 
รัฐต้องเปิดรับเรื่องการทำแท้งได้อย่างเสรี  เพื่อผู้หญิงที่มีครรภ์ในสภาวะไม่พึงประสงค์และไม่อยู่ในสภาวะที่จะดูแลบุตรได้  ทั้งทางเศรษฐกิจและสถานภาพในสังคม  ไม่ใช่เฉพาะด้านสุขภาพเท่านั้น 
เปิดเสรีภาพการเลือกวิถีเพศ  การเลือกคู่ครอง  ปรับแก้กฎหมายให้มีกระบวนการรับรองสิทธิการเลือกเหล่านั้น  ไม่ว่าจะเรื่องเพศ  และการใช้ชีวิตคู่ที่ไม่ว่าจะระหว่างเพศหรือเพศเดียวกัน
เปิดรับข้อเสนอด้านนโยบายที่ก้าวหน้าทั้งหลาย  เพื่อคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจาก  “ความรุนแรงในครอบครัว” ทั้งมี “มาตรการป้องปรามการทารุณเด็กและการค้าประเวณีเด็กและผู้หญิง” ที่มีประสิทธิภาพ  
ส่งเสริมแนวนโยบายให้สังคมตระหนักในเรื่อง  “เซ็กส์ที่มีความสุข”  “เซ็กส์ด้วยความรับผิดชอบ”  และ “เซ็กส์บนฐานของการเข้าใจมัน”  เคารพตนเองและคู่ครองหรือคู่นอน และไม่ใช้กำลังบังคับการมีเพศสัมพันธ์...)

ข้างบนคือข้อเสนอที่กลั่นออกมาจากประสบการณ์การทำงานช่วยเหลือสังคมอย่างยาวนานของผู้เขียน “เปลื้องผ้าและไม่ไทยเลย” ต่อผู้มีอำนาจในรัฐบาล เพื่อที่จะปฏิรูปสังคมไทยให้หลุดพ้นจากการเป็นสังคมจารีต อนุรักษ์นิยมที่ดัดจริตและตอแหลสร้างภาพโกหกตัวเอง เพื่อที่สังคมนี้จะได้กลายเป็นสังคมที่ยืนอยู่กับความเป็นจริง เป็นสังคมที่เรียนและรู้จักตนเองอย่างแท้จริง รู้สถานภาพของตนในสังคมโลก และรู้ว่าตนจะนำพาสังคมก้าวเดินไปในแนวทางใดจึงจะทำให้สังคมนี้เป็นสังคมที่พัฒนาแล้วอย่างเท่าเทียมกับประเทศที่เจริญแล้วในโลก

หลายคนคงประหลาดใจว่าทำไม ข้อเสนอเพื่อปฏิรูปสังคมจากหนังสือ “เปลื้องผ้าและไม่ไทยเลย” ที่ผมยกมาจึงเป็นเรื่องราวของเซ็กส์และเพศสัมพันธ์ ที่จริงแล้วข้อเสนอเพื่อปฏิรูปสังคมจากหนังสือเล่มนี้นั้นมีหลากหลายแง่มุม(ผู้สนใจควรจะเข้าไปศึกษาเองจากในเล่ม) แต่ที่นำเสนอการปฏิรูปเรื่องเซ็กส์ก็เพราะ เรื่องนี้เป็นพื้นฐาน เป็นเรื่องสามัญธรรมดาที่อยู่คู่กับมนุษย์ เป็นเรื่องอารมณ์พื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนต่างก็มีความรู้สึกต่อมันด้วยกันทั้งนั้น

แต่... ด้วยความที่อยู่ในสังคมจารีตจึงทำให้คนในสังคมถูกกด ถูกปิดการรับรู้และเรียนรู้กับเรื่องพื้นๆของมนุษย์เช่นนี้ไป ทำให้การรับรู้ในเรื่องเซ็กส์และเพศวิถีของผู้คนในสังคมจารีตแห่งนี้บิดเบี้ยวและเกิดความเข้าใจผิดๆต่อๆกันมา และเป็นต้นธารให้เกิดความรุนแรงในหลากหลายมิติขึ้นในสังคม จากความเก็บกดในจิตใจของผู้คนในสังคม การจะปฏิรูปสังคม เราย่อมหลีกไม่พ้นที่จะต้องเรียนรู้ที่จะรู้จักสังคมที่ตนอยู่อย่างถูกต้อง และก่อนที่จะรู้จักสังคมของตนได้อย่างถูกต้องก็ย่อมจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะต้องรู้จักตนเองให้ถ่องแท้เสียก่อน
ความน่าอ่านของหนังสือ  “เปลื้องผ้าและไม่ไทยเลย”  คือ การที่หนังสือเล่มนี้ช่วยสะท้อนภาพสังคมพร้อมทั้งตัวตนของเราออกมาอย่างชัดเจน  ตรงไปตรงมา  และเปลื้องเปลือย  เพื่อที่เราจะได้รู้จัก  ได้เรียนรู้ตนเอง  เรียนรู้สังคม  จะได้เข้าใจตนเองและสังคม  เพื่อจะได้ช่วยกันทลายกรอบกฎเกณฑ์ที่มันกดขี่  บีบคั้น  และบังคับความเป็นคน  ความเป็นมนุษย์ของเราให้หมดสิ้นหรืออย่างน้อยก็ลดน้อยลงไป  เพื่อที่เราจะได้อยู่ในสังคมมนุษย์ที่เทียมหน้าเสมอภาค  เข้าใจตนเอง  เข้าใจผู้อื่น  และเข้าใจสังคมร่วมกัน  

*****************************************************************************************************

เจ้าของหนังสือ : จรรยา ยิ้มประเสริฐ 




ประวัติการทำงานโดยสังเขป


2532
  • จบการศึกษาอักษรศาสตร์บัณฑิต (สังคมศาสตร์การพัฒนา) มหาวิทยาลัยศิลปากร
  •  ผู้ช่วยวิจัยเรื่องผลกระทบของการท่องเที่ยวที่เกาะสมุย
2533
  • ทุนไปศึกษาดูงานที่ออสเตรเลีย
  •  ศูนย์แรงงานอพยพ ช่วยเหลือแรงงานไทยและแรงงานเอเชียร้องเรียนเรื่องสิทธิและค่าเสียหาย ฮ่องกง
2535
  •  องค์กรกลาง
  •  ศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงาน
2536
  •  วิจัยเรื่องคนงานไทยในสิงคโปร์
  • องค์กรอาสาสมัครแคนาดา (CUSO) ทำงานด้านประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนและงานส่งเสริมบทบาทหญิงชาย
2538 
  • Focus on the Global South (โครงการศึกษาแบะปฏิบัติการงานพัฒนา)
2540 -2542
  •  อาสาสมัครช่วยงานสมัชชาคนจนและกลุ่มเพื่อนประชาชน
  •  ประสานงานสัมมนา ผู้หญิงชาวนาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรุงเทพ
2542
  • ผู้ประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนรีบอค (4 เดือน)
  • รายงาน “จรรยาบรรณด้านแรงงานของบรรษัทข้ามชาติจะสามารถส่งเสริมสิทธิแรงงานได้จริงหรือไม่?


2544  ก่อตั้งโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการจนถึงเดือนมิถุนายน 2553


2004
  • มกราคม World Social Forum, Mumbai, อินเดีย
  • พฤษภาคม People Global Action, Dhaka, บังคลาเทศ
  • สิงหาคม โอลิมปิกคนงานเอเชีย กรุงเทพฯ
2548
  •  People Global Action, ฮาริดวาร์, อินเดีย
  • บริษัท Publicis ฟ้องร้องจรรยา ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จากการช่วยเหลือคนงานบริษัทที่เมืองไทยเรียกร้องค่าเสียหายจากการถูกเลิก จ้างไม่เป็นธรรม บริษัทถอนฟ้องหลังจากถูกขบวนการแรงงานสากลรณรงค์ประท้วง
2549
  •  ประสานเวทีสมานฉันท์โลกใต้กับโลกใต้ที่งานภาคประชาสังคมโลก ไนโรบี เคนยา
  •  การสัมนานานาชาติของเครือข่ายแรงงานทั่วโลก ลิม่า เปรู
  •  ธันวาคม ย้ายไปอยู่เชียงใหม่และเริ่มสร้างโครงการ “การพึ่งตนเองด้วยวิถีออแกนิกส์ที่ไร่เปิดใจ” อ. แม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่

2550 ร่วมก่อตั้งเครื่อข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานต่างประเทศ


2552
  •  มีนาคม - กรกฎาคม เดินสายประชุมและนำเสนอปัญหาแรงงานไทยที่ยุโรป 7 ประเทศ
  • ธันวาคม ร่วมประกาศจัดตั้ง สหภาพคนทำงานต่างประเทศ


นับตั้งแต่ปี 2553 ประสานกิจกรรม ACT4DEM แอคชั่นเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย และสหภาพคนทำงานต่างประเทศ เพื่อศึกษาเรื่องปัญหาแรงงานไทยในยุโรป
ปัจจุบันนั่งทำงานเขียนหนังสือ บทความ ผลิตสื่อการศึกษา และรณรงค์เพื่อสิทธิแรงงานและเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทยอยู่ประเทศฟินแลนด์ 

งานเขียนที่จัดพิมพ์

มาสเตอร์ทอย: 72 ปีแห่งการต่อสู้บนท้องถนน(2544)

จรรยา ยิ้มประเสริฐ และบรรจง เจริญผล

เรื่องราวของคนงานกว่า 150 คนที่ตื่นรู้ในเรื่องสิทธิ และประท้วงบริษัทเมเฉิงทอย ที่เลิกจ้างพวกเขาเพราะจัดตั้งสหภาพแรงงาน, 2544


ใครบอกว่าคนไทยอ่อนแอ (2545)

จรรยา ยิ้มประเสริฐ จรัล กล่อมขุนทศ และรุ่งนภา ขันคำ

จรัลและรุ่งนภาเป็นสองในแกนนำสหภาพเสรีปานโก้ ที่หนังสือสือเล่มนี้ได้เขียนขึ้นเพื่อรำลึก 10 ปีแห่งการต่อสู้ของพวกเขา ชาวเสรีปานโก้, 2544 เป็นสหภาพเดียวในประวัติศาสตร์เท่าที่ทราบท่ีทำให้นายทุนที่เอาเปรียบแรงงาน ต้องเข้าไปอยู่ในคุก เผชิญกับความเจ็บปวด (แม้จะระยะเวลาสั้น) เช่นที่คนงานต้องเผชิญทุกเมื่อเชื่อวัน


โซ่การผลิตของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (ไทยและอังกฤษ) (2546)

รายงานการศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการและโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ในประเทศไทยที่กดชะตากรรมของคนงานหญิงนับล้านคนไว้ในขั้นตอนสุดท้ายแห่งการ ผลิตในอัตราค่าจ้างต่ำสุด และต่อต้านการรวมตัวต่อรองของคนงานหญิงอย่างรุนแรง
พอกันที (ไทยและอังกฤษ)(2546)

พอกันที

พอกันทีกับยุทธการทำร้ายและรังแกคนงาน โดยเฉพาะในความพยายามขัดขวางคนงานในทุกวิถีทางของนายทุน เพื่อไม่ให้สามารถตั้งสหภาพแรงงานเพื่อรวมตัวต่อรองกับนายทุนได้สำเร็จ เรื่องราวการต่อสู้ได้้ถูกนำเสนอในรูปแบบบทสนทนาและภาพวาดเพื่อให้เข้าใจได้ ง่าย

ต้นทุนต่ำสุด กำไรสูงสูด (ไทยและอังกฤษ)(2549)

จรรยา ยิ้มประเสริฐ และ Petter Hveem เป็นงานเขียนที่วิพากษ์การปรับตัวของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มโลกที่วางระบบ การผลิตอยู่บนการลอยตัวของความรับผิดชอบตรงต่อคนงานที่อยู่ในโซ่สุดท้ายของ การผลิต และสร้างภาพลักษณ์แห่งการเป็นบรรษัทข้ามชาติที่มีจรรยาบรรณด้านแรงงานและมี จริยธรรมเพื่อสังคม

กว่าจะบอกได้ว่า ทำไมถึงไม่รักในหลวง
เป็นงานเขียนที่เกิดจากความสุดทนเมื่อเห็นประชาชนคนไทยถูกทหารยิงตายกลางท้องถนนอย่างป่าเถื่อนและโหดร้ายอีกครั้ง เมื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงเดือนเมษา-พฤษภาฯ 2553

แรงงานข้ามชาติ
รวบบทความงานเขียนที่เชื่อมร้อยปัญหาแรงงานโรงงานอุตสาหกรรม และปัญหาเกษตรกรแรงงานในชนบทที่ถูกล่อหลอกให้จ่ายค่าหัวคิวแพงลิบกับการไปทำงานที่ยากลำบากที่ต่างแดน กับวิถีการเมืองประชาธิปไตยใต้กระบอกปืนที่ครองธรรมเนียมการเมืองไทยมายาวนานหลายทศวรรษ  


**********************************************************************