๑๔ ตุลาวันนี้สีอะไร
ต้องขอแสดงความยินดีกับ ดร.จรัล ดิษฐาอภิชัย ประธานคณะกรรมการจัดงาน ๑๔ ตุลาประชาธิปไตยสมบูรณ์ และคณะกรรมการของท่าน ที่ได้จัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ ครบ ๔๐ ปี อย่างประสบความสำเร็จ และสมภาคภูมิ ผมไม่มีโอกาสได้ไปร่วมงานนี้ด้วยตัวเอง ได้แต่ส่งกลอนสั้นๆ ที่แต่งใหม่ไปร่วมพิมพ์อยู่ในหนังสือแจกฟรีของงานนี้ และได้รับฟังบรรยากาศผ่านพี่ๆ น้องๆ ในทีมงานของเราที่ไปร่วมรับรู้รับฟังอยู่เกือบตลอดงานที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้รู้ว่างานนี้ได้ผลอย่างสำคัญ ในการสื่อสารกับคนรุ่นหลัง ๑๔ ตุลา คนรุ่นหลังๆ หลายคนที่ผมได้คุย เริ่มคิดเชื่อมโยงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้น กับความเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบัน
เรื่องแบบนี้นักปราชญ์ราชบัณฑิตเคยคิดและเขียนงานออกมาก่อนแล้วมากมาย แต่เมื่อประชาชนคนทั่วไปคิดขึ้นมาได้เอง ไม่ต้องมีใครชี้นำหรือคิดแทนให้ ย่อมเป็นพลังทางสังคมที่มีอานุภาพสูงยิ่งต่ออนาคตของรัฐไทย ไม่มีอะไรทรงพลังไปกว่ามติมหาชนที่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวในเวลาที่เหมาะสมลงตัว นั่นคือ กงล้อประวัติศาสตร์ที่หนักแสนหนักก็จะหมุนตามไป แล้วรัฐไทยทั้งรัฐ ที่ชนชั้นนำไทยพยายามจะกรีดเสียงตะโกนว่าไม่มีวันจะเปลี่ยนแปลงได้ ก็จะเปลี่ยนแปลงให้เห็นต่อหน้าอย่างกระจะตา ผมจึงรู้สึกยินดีกับอาจารย์จรัลฯ และคณะที่ทำงานนี้ได้อย่างหมดจดงดงาม โยงคนอายุใกล้หรือเกินหกสิบเข้ากับคนรุ่นดิจิตอลที่มีเทคนิคในตัวที่ดีกว่าแต่อาจมีเนื้อหา (content) น้อยกว่า เท่ากับการผสานพลังทางสังคม (social convergence) ของคนสองวัยแต่ใจตรงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำนวนคนเข้าร่วมกิจกรรมที่มากกว่างาน ๑๔ ตุลาที่ฝ่ายเสื้อเหลือง (อนุรักษ์นิยม) จัดอย่างเห็นได้ชัด คือหลักหลายพันคนเทียบกับคนร้อยกว่าคน ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันอีกอย่างหนึ่งว่า วีรกรรมแห่ง ๑๔ ตุลาควรสานทอกับความเคลื่อนไหวทางการเมืองของฝ่ายใด ระหว่างขบวนเสรีนิยมและเครือข่ายเศษซากอนุรักษ์นิยมที่ไม่ยอมตาย (แต่คิดจะลากรัฐไทยไปตายกับตัวเอง)
ในห้วงเวลานี้เองที่ผมได้เห็นหนังสือที่ได้รับการพิมพ์ใหม่ของ ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ โดยสำนักพิมพ์ ฟ้าเดียวกัน หนังสืออันสวยงามเล่มนี้ใช้ชื่อว่า “และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ:การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน ๑๔ ตุลาฯ” เมื่ออ่านแล้วก็ได้พบความสว่างขึ้นหลายอย่าง เพราะคนเขียนมิได้เริ่มต้นด้วยคำประกาศว่าตนเป็นผู้รู้ แต่ทำตรงกันข้ามคือศึกษาและเรียบเรียงอย่างคนที่ไม่รู้ อยากรู้ และมุ่งตอบคำถามในใจของตัวเองเป็นหลัก ผมชอบใจที่ ดร.ประจักษ์ฯ ตั้งสมมติฐานไว้ว่า ๑๔ ตุลามีฐานะที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ แต่การบันทึกประวัติศาสตร์ครั้งนั้น กลับมีลักษณะ “อีเหละเขะขะ” และมีความขัดแย้งในตัวเองมากมายจนไม่อาจปลงใจเชื่อได้ว่าสิ่งที่รับเชื่อกันต่อๆ มาจะเป็นความจริง นี่ล่ะคือหัวใจของการพัฒนาประชาธิปไตยไทย
หากประวัติศาสตร์ไทยถูก “ลักพาตัว” โดยคนร้ายที่บิดเบือนประวัติศาสตร์จนตัวเองกลายเป็นพระเอก ผู้คนปัจจุบันและคนรุ่นต่อไปจะต้องสับสนขนาดหนักว่า อะไรชั่วดีถูกผิด และแสดงจุดยืนผิดๆ ที่สวนทางกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม งานชิ้นนี้เป็นการรวมความขี้สงสัยของ ดร.ประจักษ์ฯ และคำตอบที่ ดร.ประจักษ์ฯ ใช้ตอบคำถามเหล่านั้น ได้อย่างเป็นระบบและมีลำดับทางความคิดที่ดี
ดร.ประจักษ์ฯ ออกตัวว่าเกิดไม่ทัน ๑๔ ตุลาเหมือนกับพวกเราหลายคน ผมกลับเห็นว่านั่นล่ะคือจุดเด่นของนักเรียนประวัติศาสตร์ ๑๔ ตุลาคนนี้ เพราะท่านสามารถตั้งคำถามและแสวงหาคำตอบได้อย่างเสรี ซื่อสัตย์ และไม่ปนเปื้อน เนื่องจากท่านไม่มีอัตตาแห่งเดือนตุลา ที่คอยกดหัวคนรุ่นหลังว่า ข้าผ่านเหตุการณ์นั้นมาแล้ว ข้าต้องรู้ดีว่าเอ็ง ผมเชื่อว่าผู้ที่มีส่วนร่วมสร้างประวัติศาสตร์มักมองไม่ค่อยเห็นประวัติศาสตร์นั้นๆ อย่างถ่องแท้และสมบูรณ์ เพราะอยู่ใกล้เกินไป เกี่ยวข้องเกินไป และบางครั้งก็มีข้อแก้ตัวมากเกินไป จนเกิดอัตวิสัยมาก ผู้สร้างประวัติศาสตร์จึงต้องพึ่งพาอาศัยนักเรียนรุ่นหลังที่ซื่อสัตย์มาศึกษาแทนตน โดยตนช่วยเขาในเรื่องข้อมูลปฐมภูมิให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แล้วตนเองจะได้รับความชื่นใจแห่งชีวิต นั่นคือได้ตระหนักในที่สุดว่าประสบการณ์ของตนมันหมายถึงอะไร และมันมีความหมายอย่างไรในสังคมส่วนรวม โดยคนรุ่นหลังก้าวเข้ามาช่วยเหลือตีความให้
คนเดือนตุลาที่ยึดสีเหลือง ชมพู สลิ่ม และไม่มีสีส่วนมาก ลืมไปแล้วหรือแสร้งลืมว่า เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๖ จบลงด้วยการตั้งองคมนตรีเป็นนายกรัฐมนตรี เหมือนกับการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ ที่จบลงด้วยการตั้งองคมนตรีเป็นนายกรัฐมนตรีของคณะรัฐประหาร ช่วงเวลาระหว่าง นายสัญญา ธรรมศักดิ์ กับ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ อาจยาวนานถึง ๓๓ ปี แต่รูปแบบก็มิได้เปลี่ยนแปลงไป ศูนย์กลางของอำนาจแห่งระบอบก็มิได้เปลี่ยนแปลงไป และประชาธิปไตยชนิดลูกผีลูกคนของไทย ก็ยังดำเนินต่อมาจนถึงในนาทีนี้ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลย แล้วท่านจะมานั่งอนุรักษ์นิยมให้วีรกรรมที่ตัวท่านและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของท่านมันถูกเบียดจมดินไปอย่างไร้ความหมายอีกหรือ ตัว ดร.ทักษิณฯ อาจมีความสำคัญอย่างยิ่งในช่วงตอนนี้ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่ท่านจะจับจ้องเอาที่ตัวคนๆ เดียวจนละเลยภาพรวมของการพัฒนาประชาธิปไตยเลยหรือ
๔๐ ปี ๑๔ ตุลา น่าจะทำให้ผู้คนเดือนตุลาเข้าถึงภูมิปัญญาบางอย่างที่ลึกซึ้งกว่าคนรุ่นหลังอย่างพวกผม และช่วยประคองพวกผม ไม่ใช่กลับไปเสริมความกร้านโลกของคนที่กำลังเข้าสู่วัยทอง จนถึงขั้นตีโพยตีพายหาโลกเก่าๆ ที่กำลังลับเลือนไปกับสายธารแห่งประวัติศาสตร์อันหลีกเลี่ยงมิได้.
**************************************************************************
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น