จักรภพ เพ็ญแข - รายการจุดเปลียน "จัดกระบวนทัพประชาชน" 27 มีนาคม 2557

วันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2557

ก็ไพร่นี่คะ เล่ม 3 ของ "คำผกา"

ก่อนหน้านี้เราได้อ่าน "ไพร่นี่คะ" เล่ม 1 และ เล่ม 2 ผลงานของนักเขียนฝีมือดี ฝีปากกล้า อย่าง คุณคำผกา กันมาแล้ว ขณะนี้สำนักพิมพ์อ่าน ได้ตีพิมพ์ผลงานเล่มใหม่ "ก็ไพร่นี่คะ" เล่ม 3 ออกวางตลาดแล้วค่ะ พี่น้องผู้รักประชาธิปไตย สามารถติดตามอ่านและหาซื้อได้ที่ร้านหนังสือทีพีนิวส์ (ในอนาคตไม่ไกลนี้จะเปลี่ยนชื่อเป็น "ร้านจักรภพ" หรือ Jakrapob's Bookstore เพื่อง่ายแก่การจดจำและเรียกขานกัน) ที่ห้างอิมพีเรียล เวิล์ด ลาดพร้าว ชั้น 4 หรือ โทร.สั่งซื้อได้ที่ 085-5049944 หรือสั่งซื้อทางเว็บไซต์ของร้านที่ www.tpnewsbook.com ค่ะ



ก็ไพร่นี่คะ เล่ม 3
โดย คำ ผกา
รวมบทความคัดสรรจากมติชนสุดสัปดาห์
ตั้งแต่เลือกตั้ง 3 กรกฎา 2554 และหนึ่งปีวิบากรัฐบาลเลือกตั้ง
คำนำเสนอโดย เวียงรัฐ เนติโพธิ์ ว่าด้วย “ปรากฏการณ์คำ ผกา: เมื่อหญิงคนชั่วริสร้างชาติ”
พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก กันยายน 2556
424 หน้า ราคา 400 บาท
บางส่วนจากคำนำเสนอ โดย เวียงรัฐ เนติโพธิ์
ข้อสงสัยในหญิงคนชั่ว
คำถามที่ข้าพเจ้าติดหนี้ค้างอยู่หลายปี คือคำถามจากอาจารย์ที่ปรึกษาของ “คำ ผกา” ที่ชื่อว่าอาจารย์โยชิฟุมิ ทามาดะ แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต สมัยที่คำ ผกา ยังมีหนังสือตีพิมพ์เพียง 7-8 เล่ม อาจารย์ถามข้าพเจ้าว่า “อาจารย์เวียงรัฐครับ ทำไมลักขณาจึงได้รับความนิยมในสังคมไทย” ข้าพเจ้าได้ตอบไป ง่ายๆ ว่า “คงเพราะลักขณาเธอชอบด่าและสบประมาทพวกคอนเซอร์เวทีฟมั้ง จึงสร้างความสะใจให้คนที่ไม่ใช่คอนเซอร์เวทีฟซึ่งมีอยู่ไม่น้อยในสังคมไทย” แม้จะตอบไปเช่นนั้น แต่ก็ติดค้างมาตลอดว่าไม่น่าจะใช่คำตอบที่รอบด้านนัก หลายปีที่ผ่านมาข้าพเจ้าจึงอ่านและฟังคำ ผกา ชนิดที่มีคำถามนี้ตามมาด้วยตลอด ช่างน่าสงสัยนักว่าหล่อนมีอะไรดี (พูดให้ถูกคือหล่อนมีอะไรเลว) จึงเป็นที่ถูกอกถูกใจคนในสังคมไทยส่วนหนึ่งนักหนา และยิ่งนับวันก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นเมื่อถึงวาระที่สำนักพิมพ์อ่านได้รวมบทความของคำ ผกา ที่เคยตีพิมพ์ใน มติชนสุดสัปดาห์ ตั้งแต่หลังการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 เป็นต้นมา เป็น ก็ไพร่นี่คะ เล่ม 3 นี้ ข้าพเจ้าประสงค์จะตอบคำถามที่ค้างไว้หลายปีนั้นให้ได้มากขึ้น แม้จะไม่แน่ใจนักว่าจะตอบได้ดีขึ้นหรือไม่ก็ตาม
******************************************************************************************************************
ผลงานก่อนหน้านี้











****************************************************************************************************************
คำผกา : ประวัติ

ลักขณา ปันวิชัย หรือ คำ ผกา (ชื่อเล่น: แขก) เกิดเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2515 ที่อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นนักเขียนที่เป็นรู้จักในฐานะนักเขียนคอลัมน์เรื่อง "กระทู้ดอกทอง" และพิธีกรในสถานีวอยซ์ทีวี
ในอดีตได้ทำงานเป็น นักข่าว และครู คอลัมนิสต์ นักแปล และได้ถ่ายภาพเปลือยให้แก่นิตยสารจีเอ็ม และถ่ายภาพเปลือยตัวเองเพื่อแสดงความเห็นในคดีระหว่างพนักงานอัยการ กับอำพล ตั้งนพกุล
ในขณะที่เป็นนักเขียนเธอได้มีนามปากกาหลายชื่อ ได้แก่ "คำ ผกา", "ฮิมิโตะ ณ เกียวโต" และ "คำปัน ณ ปันนา" 

ลักขณา ปันวิชัย มีชื่อเล่นว่า "แขก" เกิดและโตที่บ้านสันคะยอม อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เข้าศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่โรงเรียนดาราวิทยาลัย ต่อมาได้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านประวัติศาสตร์จากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อมาหลังจากทำงานเป็นนักข่าวของอสมท และครูสอนวิชาสังคมศึกษาที่โรงเรียนดาราวิทยาลัย ต่อมาได้รับทุนมอนบุโชไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอก ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ภายหลังจบปริญญาโทในด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา เธอได้วางแผนทำดุษฎีนิพนธ์ในระดับปริญญาเอกในหัวข้อสตรีนิยม แต่ได้ยกเลิกการเรียนปริญญาเอก เนื่องจากอกหัก
ลักขณาเป็นนักเขียนที่มีแนวคิดร่วมสมัย โดยเฉพาะมุมมองที่ถนัดทางด้านสตรีนิยม มีสไตล์การเขียนที่เป็นเอกลักษณ์และก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากโดยเฉพาะข้อสงสัยต่อองค์ความรู้เกี่ยวกับชนบทของเธอ ผลงานของเธอที่มีชื่อเสียงปรากฏอยู่ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ในคอลัมน์ชื่อ "กระทู้ดอกทอง" โดยใช้นามปากกาว่า "คำ ผกา" และคอลัมน์ "จดหมายจากเกียวโต" โดยใช้นามปากกา "ฮิมิโตะ ณ เกียวโต" ซึ่งได้มีการตีพิมพ์รวมเล่มแล้ว
ลักขณาเขียนบทความประจำให้แก่นิตยสารหลายเล่ม เช่น ดิฉัน ("คลุกข้าว-ซาวเกลือ"), มติชนสุดสัปดาห์อ่าน ("หล่อนอ่าน"), VOLUMEHUG ("ผู้หญิงขั้วบวก") ฯลฯ และยังมีผลงานพ็อกเก็ตบุครวมบทความต่าง ๆ ทั้งยังเป็นผู้ดำเนินรายการ คิดเล่นเห็นต่างกับคำผกา ร่วมกับ อรรถ บุนนาค ซึ่งเป็นรายการที่วิพากษ์วิจารณ์ประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นที่สนใจของสังคมและยังเป็นผู้ดำเนินรายการดีว่าคาเฟ่ ร่วมกับ วันรัก สุวรรณวัฒนา มนทกานติ รังสิพราหมณกุล จิตต์สุภา ฉิน อินทิรา เจริญปุระ อรรถ บุนนาคกรกฎ พัลลภรักษา และ พรรณิการ์ วานิช ซึ่งเป็นรายการผู้หญิงที่เป็นการรวบรวมเนื้อหาสาระและบันเทิงในมุมมองของผู้หญิง มีการวิพากษ์วิจารณ์ประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม และบันเทิงทั้งในและต่างประเทศ โดยรายการดังกล่าวออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี

ผลงานที่ตีพิมพ์เป็นเล่ม


นามปากกา คำ ผกา
  • Open House 2 (2545 รวมบทความของนักเขียนหลายคน)
  • คืนวันพุธ (เรื่องสั้น) ใน อิสตรีอีโรติก (2545 รวมเรื่องสั้นของนักเขียนหลายคน)
  • กระทู้ดอกทอง (2546 รวมบทความวิจารณ์วรรณกรรมที่เคยตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์[7])
  • รักเธอ (เรื่องสั้น) ใน ชู้ รักนอกใจ (2546 รวมเรื่องสั้นของนักเขียนหลายคน)
  • เซี่ยงไฮ้เบบี้ (2546 นวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติ แปลจากผลงานของเว่ย ฮุ่ย)
  • ฉัน-บ้า-กาม (2547)
  • รักไม่เคยชิน (2547)
  • เรียกฉันว่า...ผู้หญิงพิเศษ (2547 รวมบทความของนักเขียนหลายคน)
  • เกียวโต คู่มือท่องเที่ยวญี่ปุ่นด้วยตนเอง (2552 เขียนร่วมกับกรกฎ พัลลภรักษา)
  • ส้นสูง สโนไวท์ ลิปสติก (2552 เขียนร่วมกับกุสุมาลย์ ณ กำพู)
  • บนเตียงเดี่ยว (เรื่องสั้น) ใน ริมฝีปาก (รวมเรื่องสั้นของนักเขียนหลายคน)
  • ก็ไพร่นิค่ะ (2553)
  • เปิด เปลื้อง เปลือย คำ ผกา (2554)
นามปากกา ฮิมิโตะ ณ เกียวโต
  • จดหมายจากเกียวโต (2545 รวมบทความสัพเพเหระเกี่ยวกับญี่ปุ่นที่เคยตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์)
  • จดหมายจากสันคะยอม (2546)
  • ยำใหญ่ใส่ความรัก (2546)
  • ยุให้รำตำให้รั่ว (2548 รวมบทความจากคอลัมน์ชื่อเดียวกันที่เคยตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์)
  • โสดสนุกสูตรอร่อย (2550)
  • เกียวโต รักเธอมากขึ้นทุกวัน (2552)
  • จักรวาลในสวนดอกไม้ (2552) ISBN : 9789744752383
  • เมนูปรารถนา
  • คลุกข้าวซาวเกลือ (2554 รวมบทความจากคอลัมน์ชื่อเดียวกันที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสารดิฉัน)
  • ติด (เรื่องสั้น) ใน สามัคคีเพศ (2554)
นามปากกา คำปัน ณ ปันนา
  • คืนนี้ฉันไม่อยากนอนกับใคร (เรื่องสั้น) ใน ทำไมเธอร้องไห้ (2549 รวมเรื่องสั้นของนักเขียนหลายคน)

**************************************************************************************************************






วันจันทร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2557

กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์ สังคมและการเมืองสยาม เล่ม 1 (พ.ศ. 2484-2490) อีกปก จากสนพ.อ่าน



กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยามเล่ม 1 (พ.ศ. 2484-2490)
โดย นายผี
โครงการอ่านนายผี ลำดับที่ 2

หมายเหตุการจัดพิมพ์
เนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์
กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม เป็นหนังสือชุดหนึ่งใน “โครงการอ่านนายผี” ซึ่งสำนักพิมพ์อ่านได้รับอนุญาตจากคุณวิมลมาลี พลจันทร บุตรสาวของคุณอัศนี พลจันทร ให้จัดพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณชนอีกครั้งหนึ่ง โดยจะเริ่มต้นในวาระ 95 ปีชาตกาลของคุณอัศนี พลจันทร ซึ่งตรงกับวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2556
การจัดพิมพ์ กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม ครั้งนี้ ยึดตามต้นร่างซึ่งคุณวิมล พลจันทร ภรรยาของคุณอัศนี และบรรณาธิการของหนังสือชุดนี้ ได้ชำระต้นฉบับไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งเตรียมจัดพิมพ์ในวาระครบอายุ 85 ปี “นายผี” พ.ศ. 2546
เอกสารต้นร่างดังกล่าวรวบรวมกาพย์กลอนมากกว่า 300 เรื่องและจัดเรียงลำดับตามการตีพิมพ์ครั้งแรกไว้ดังนี้ 1) กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม พ.ศ. 2484-2489 ผนวก 2490 2) กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม พ.ศ. 2491 3) กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม พ.ศ. 2492 4) กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม พ.ศ. 2493 5) กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม พ.ศ. 2494 6) กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม พ.ศ. 2495 และ 7) กาพย์กลอนวิพากษ์
วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม พ.ศ. 2501-2502
คุณวิมลรวบรวมกาพย์กลอนเหล่านี้และชำระต้นฉบับทั้งหมด รวมทั้งได้สอบทานกับต้นฉบับลายมือของคุณอัศนีเท่าที่มีหลงเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งมีทั้งกาพย์กลอนและส่วนไขคำ/สถานการณ์ท้ายกาพย์กลอน นอกจากนั้นคุณวิมลยังได้เขียนสถานการณ์การเมืองสยามโดยสังเขปเพื่อเกริ่นนำกาพย์กลอนแต่ละหมวด และเขียนไขสถานการณ์ประกอบท้ายกาพย์กลอนแต่ละเรื่องเพิ่มเติม (แต่ไม่ครบทั้งหมด) เพื่อให้เป็นไปตามโครงสร้างต้นฉบับเดิมของคุณอัศนีที่ได้สูญหายไปในราว พ.ศ. 2495 ด้วย* เรื่องต้นฉบับสูญหายไปนี้ ยังความเสียใจเป็นอย่างยิ่งให้แก่คุณวิมล แต่ในภายหลังกลับกลายเป็นแรงผลักดันให้คุณวิมลทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่เพื่อรวบรวมต้นฉบับกาพย์กลอนนายผีให้ครบถ้วน แม้ว่าสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวจะไม่เอื้ออำนวย และคุณวิมลประสบอุบัติเหตุตกจากรถเมล์ถึงสองครั้งในระหว่างเดินทางไปหอสมุดแห่งชาติ
คุณวิมลมาลีเล่าถึงการทำงานของคุณวิมลในระหว่างการรวบรวมและชำระต้นฉบับกาพย์กลอนนายผีว่า “เราไม่มีรถ เราไม่มีเงิน นั่งๆทำกันไป พอไม่รู้อะไรก็ไปห้องสมุด นั่งรถเมล์ไป”**
สถานที่ทำงานของคุณวิมลคือนอกชานบ้านหลังน้อย ซึ่งแต่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนของคุณฉลบชลัยย์ พลางกูร ภรรยาของคุณจำกัด พลางกูร ผู้เป็นมิตรสนิทของคุณอัศนี ส่วนคุณวิมลมาลีก็ได้ช่วยงานสอนเด็กเล็กอยู่ด้วย ปัจจุบันกิจการโรงเรียนเลิกไปแล้ว แต่คุณฉลบชลัยย์ได้ยกบ้านหลังนี้ให้แก่คุณวิมลมาลีกับครอบครัว บ้านน้อยหลังนี้มีชื่อว่า “บ้านเดือนเพ็ญ”
อย่างไรก็ดี การทำงานของคุณวิมลก็ยังไม่สำเร็จลุล่วงเนื่องจากคุณวิมลได้ล้มป่วยและเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2545 ในวัย 81 ปี
แม้ว่าต้นฉบับกาพย์กลอนนายผีร่างแรกจะสูญหายไป และในช่วงกบฏสันติภาพ (10 พ.ย. 2495) คุณอัศนีต้องหลบหนีการจับกุมและหยุดเขียนงานลงในหนังสือพิมพ์ต่างๆไปนานถึงห้าปี แต่กาพย์กลอนนายผีก็ได้มีการจัดพิมพ์ในภายหลังในลักษณะคัดสรรอยู่เป็นครั้งคราว เช่นเมื่อ พ.ศ.2500 คุณอัศนีได้ติดต่อให้คุณอารีย์ พื้นนาค เจ้าของสำนักพิมพ์อักษรวัฒนา นำกาพย์กลอน 30 เรื่องซึ่งเคยตีพิมพ์ในสยามสมัย (รายสัปดาห์) ไปจัดพิมพ์เป็นหนังสือพร้อมกับต้นฉบับงานอีกสองเรื่อง โดยมีคุณอุดม สีสุวรรณ เป็นผู้นัดหมายให้พบกันที่บ้านของคุณอัศนีย่านพระโขนง:

คุณอัศนีได้ส่งแฟ้มแข็งสองแฟ้มซึ่งเป็นต้นฉบับงานของท่าน รวมทั้งหมดมี 4 เรื่อง คือ กาพย์กลอนนายผีชุดที่ 1 และชุดที่ 2 เล่มที่ 3 คือ ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน โดยใช้นามปากกา “ศรีอินทรายุธ” เล่มที่ 4 เป็นเรื่องที่แปลมาจากภาษาสันสกฤตชื่อ ภควัทคีตา งานประพันธ์ของท่านที่มอบให้ผมจัดพิมพ์ วางตลาดได้เพียง 3 เล่มเท่านั้น เล่มที่ 4 ไม่ได้จัดพิมพ์ เพราะผมถูกศาลทหารในขณะนั้นตัดสินจำคุก 6 ปี (อารีย์ พื้นนาค, “เสี้ยวหนึ่งแห่งกาลเวลา”, ชีวิตและผลงาน: ตำนาน ‘นายผี’ อัศนี พลจันทร (2461-2530), กรุงเทพฯ: คณะกรรมการจัดงาน “นายผีคืนถิ่นแผ่นดินแม่”, 2541, น. 223.)

กาพย์กลอนนายผี ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกนี้ สำนักพิมพ์อ่านสืบค้นไม่พบจากหอสมุดต่างๆ ในประเทศไทย จนกระทั่งเมื่อปลายปี 2555 คุณไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ ได้เดินทางไปร่วมสัมมนาเรื่อง “The Politics of Criticism in Thailand: Arts and Aan” ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา จึงพบหนังสือดังกล่าว และช่วยทำสำเนานำกลับมาเพื่อเป็นเอกสารประกอบการชำระต้นฉบับผลงานของคุณอัศนีอีกทางหนึ่ง ทว่า กาพย์กลอนนายผีฉบับ พ.ศ. 2501 มีเพียงเล่มเดียว ไม่ใช่หนังสือชุดที่ 1 และชุดที่ 2 ตามคำบอกเล่าข้างต้น สำนักพิมพ์อ่านได้สอบถามเรื่องนี้ไปยังสำนักพิมพ์อักษรวัฒนาในภายหลัง แต่เป็นที่น่าเสียดายที่คุณอารีย์เสียชีวิตไปแล้ว จึงไม่มีข้อมูลเพิ่มเติม
หลังจากการตีพิมพ์ครั้งแรกแล้ว ในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นระยะที่เกิดกระแสการกลับไปอ่านผลงานของนักคิดนักเขียนในช่วงรอยต่อกึ่งพุทธกาล เช่น เปลื้อง วรรณศรี, ทวีป วรดิลก, จิตร ภูมิศักดิ์ ฯลฯ ผลงานกาพย์กลอนของนายผีก็มีการนำมาจัดพิมพ์ใหม่เช่นกัน โดยมีทั้งแบบคัดสรรชิ้นงานอย่างเช่น กวีประชาชน (กลุ่มวรรณกรรมธรรมศาสตร์, 2517) นำบทกวีของนักเขียน 30 คนในช่วง พ.ศ. 2493-2510 มารวมตีพิมพ์ โดยมีกาพย์กลอนของนายผีอยู่ 4 เรื่องด้วยกัน หรือในกาพย์กลอนขนาดยาว เราชะนะแล้ว, แม่จ๋า ของนายผีเอง สำนักพิมพ์เยาวชน (2522) ก็นำกาพย์กลอนนายผี 15 เรื่องมารวมพิมพ์ด้วย โดยแยกไว้เป็นหมวด “อหังการของกวี” เป็นต้น
การจัดพิมพ์กาพย์กลอนนายผีครั้งสำคัญน่าจะได้แก่ รำลึกถึงนายผีจากป้าลม (ดอกหญ้า, 2533) เนื่องในวาระอายุครบ 72 ปีของคุณอัศนี พลจันทร ซึ่งคุณวิมล พลจันทร หรือป้าลม ได้นำกาพย์กลอนนายผีจำนวน 27 เรื่อง ที่เคตีพิมพ์ใน สยามนิกร (รายวัน) และ สยามสมัย (รายสัปดาห์) ในระยะ พ.ศ. 2489-2491 มาพิมพ์รวมเล่ม โดยกาพย์กลอนเหล่านี้ (26 เรื่อง) มีไขคำ/สถานการณ์ประกอบท้ายกาพย์กลอนซึ่ง “นายผี” เป็นผู้เขียนไว้เองเนื่องจาก:

เป็นความตั้งใจของคุณอัศนีที่จะตอบคำถามของท่านผู้อ่านที่ถามมา และได้รวบรวมไว้แต่ปี พ.ศ. 2490 ถึงปี พ.ศ. 2495 และต้นฉบับได้สูญหายไป พ.ศ. 2527 ข้าเจ้าได้พบกาพย์ โคลง กลอน เมื่อคลี่ออกมาดูปรากฏว่ากระดาษนั้นกรอบและขาดเปื่อยไปมากแล้ว ส่วนที่นำมาปะติดปะต่อได้มีจำนวนเพียงเล็กน้อย (วิมล พลจันทร, “จากใจของผู้รวบรวม”, รำลึกถึงนายผีจากป้าลม, น. 6)

นอกจากนั้นคุณวิมลยังเขียนบทความ “ความงามของชีวิต” บอกเล่าถึงชีวิตส่วนตัวของคุณอัศนีเป็นครั้งแรก และนำกาพย์กลอนของคุณอัศนี “ที่เขียนขึ้นในขณะที่ประสบสถานการณ์ในเขตต่างๆ” มารวมไว้ด้วย ต่อมาในปลายปี 2533 หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์ซ้ำในชื่อ รำฤกถึงนายผีจากป้าลม โดยสำนักพิมพ์ทะเลหญ้าได้เพิ่มกาพย์กลอนกับไขคำ/สถานการณ์ที่ตกหล่นอีก 6 เรื่อง รวมเป็น 33 เรื่อง
ภายหลังการเชิญอัฐิคุณอัศนี พลจันทร กลับสู่ประเทศไทย และการจัดงาน “นายผีคืนถิ่นแผ่นดินแม่” ในวันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2540 ในปีถัดมาคณะกรรมการจัดงานดังกล่าวได้จัดพิมพ์ ชีวิตและผลงาน: ตำนาน “นายผี” อัศนี พลจันทร (2461-2530) รวบรวมบทความและข้อเขียนเพื่อรำลึกถึงคุณอัศนีจากผู้คนในหลากหลายแวดวง สำนักพิมพ์สามัญชนก็ได้รวบรวมผลงานทั้งหมดของคุณอัศนีจัดพิมพ์เป็นหนังสือชุด 3 เล่ม ในชื่อ รวมบทความ, รวมบทกวีและรวมเรื่องสั้น: “นายผี” อัศนี พลจันทร
การจัดพิมพ์ กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม ครั้งนี้ สำนักพิมพ์อ่านได้ขอคำปรึกษาจากคุณวิมลมาลีและสืบค้นต้นฉบับที่ยังขาดเพิ่มเติม*** และได้ตรวจสอบกับต้นฉบับลายมือคุณอัศนีที่ยังเหลืออยู่ รวมทั้งฉบับพิมพ์ครั้งแรกเท่าที่สืบค้นได้ และจัดทำเชิงอรรถเพิ่มเติมในกรณีที่จำเป็น โดยรักษาโครงสร้างงานไว้ตามต้นร่างที่รับมอบมา
กาพย์กลอนที่รวบรวมรายชื่อได้ล่าสุดมีจำนวน 338 เรื่อง**** ครอบคลุมผลงานที่เผยแพร่ระหว่าง พ.ศ. 2484-2502 ในสิ่งพิมพ์รายคาบหลายฉบับ ได้แก่ เอกชน (รายสัปดาห์), นิกรวันอาทิจ, สยามนิกร (รายวัน), สยามสมัย (รายสัปดาห์), อักษรสาส์น (รายเดือน), มหาชน (รายสัปดาห์) และ ปิยมิตรวันจันทร์ กาพย์กลอนเกือบทั้งหมดผู้เขียนใช้นามปากกา “นายผี” แต่มี 6 เรื่องใช้นามปากกา “อ.ส.” และอีก 1 เรื่องระบุว่า “อ.ส. และนายผีช่วยกันแต่ง”
กาพย์กลอนในแต่ละหมวดขึ้นต้นด้วยสถานการณ์การเมืองสยามโดยสังเขป คุณวิมลเขียนเรียบเรียงข้อมูลส่วนนี้เพื่อนำเสนอภาพรวมเหตุการณ์ทางสังคมและการเมืองในช่วงเวลาที่ “นายผี” เขียนกาพย์กลอน โดยได้อาศัยข้อมูลจากปริญญานิพนธ์เรื่อง “วิเคราะห์บทร้อยกรองของ ‘นายผี’” ของคุณสุจิรา คุปตารักษ์ ซึ่งเสนอต่อมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เมื่อ พ.ศ. 2526
ต่อจากสถานการณ์การเมืองสยามโดยสังเขป เป็นกาพย์กลอนนายผีซึ่งเรียงไปตามลำดับเวลาการตีพิมพ์ครั้งแรก โดยมีไขคำ /สถานการณ์ประกอบท้ายกาพย์กลอนเป็นเรื่องๆไป ทั้งนี้กาพย์กลอนที่ “นายผี” เขียนไขคำ /สถานการณ์ไว้เองมีเพียง 32 เรื่อง***** ไขสถานการณ์ที่เหลือนอกจากนี้คุณวิมลเป็นผู้เขียนเรียบเรียงด้วยตนเองจากความทรงจำ และจากการค้นคว้าเพิ่มเติมโดยอาศัยข้อมูลส่วนใหญ่จากปริญญานิพนธ์ของคุณสุจิรา คุปตารักษ์ ดังกล่าวข้างต้น การจัดพิมพ์ในครั้งนี้ สำนักพิมพ์อ่านจึงได้ระบุการอ้างอิงกำกับไว้ท้ายข้อความเพื่อแยกแยะให้ชัดเจน และเพื่อให้ผู้สนใจสามารถสืบค้นข้อมูลในรายละเอียดเพิ่มเติมโดยสะดวก
ทั้งนี้ สำนักพิมพ์อ่านขอชี้แจงเกี่ยวกับการจัดพิมพ์หนังสือและการชำระต้นฉบับในรายละเอียดเพิ่มเติม:
(ก) ต้นฉบับในการจัดพิมพ์ สำนักพิมพ์อ่านใช้ต้นร่างที่ได้รับมอบจากคุณวิมลมาลีในการจัดพิมพ์ กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม แต่เนื่องจากงานทั้งหมดครอบคลุมกาพย์กลอนถึง 338 เรื่อง จึงแบ่งหมวดหมู่เพื่อจัดพิมพ์เป็น 3 เล่ม ดังนี้
1. กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยามเล่ม 1 ครอบคลุมกาพย์กลอนจำนวน 100 เรื่องที่ตีพิมพ์ในระหว่าง พ.ศ. 2484 – 2490 ดังนี้
- หนังสือพิมพ์เอกชน (รายสัปดาห์) เดือนมกราคม2484 – มิถุนายน 2484 จำนวน 24 เรื่อง
- คอลัมน์ “อุทยานวรรณคดี” ในหนังสือพิมพ์นิกรวันอาทิจ เดือนกุมภาพันธ์ 2486 – กรกฎาคม 2487 จำนวน 4 เรื่อง และกาพย์กลอน 2 เรื่องที่ไม่พบข้อมูลการตีพิมพ์ครั้งแรก แต่เมื่อพิจารณาจากอักขรวิธีที่ใช้ พอจะอนุมานได้ว่าเป็นผลงานในระยะที่มีการเปลี่ยนแปลงวิธีสะกดคำในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงนำมารวมพิมพ์ไว้ในกลุ่มนี้
- คอลัมน์ “วรรณมาลา” ในหนังสือพิมพ์สยามนิกร (รายวัน) เดือนกรกฎาคม 2489 – พฤษภาคม 2490 จำนวน 43 เรื่อง
- คอลัมน์ “อักษราวลี” ในหนังสือพิมพ์สยามสมัย (รายสัปดาห์) เดือนพฤษภาคม – ธันวาคม 2490 จำนวน 27 เรื่อง
2. กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม เล่ม 2 ครอบคลุมกาพย์กลอนจำนวน 179 เรื่องที่ตีพิมพ์ในระหว่าง พ.ศ. 2491 – 2495 ดังนี้
- คอลัมน์ “อักษราวลี” ใน สยามสมัย (รายสัปดาห์) เดือนมกราคม 2491 – สิงหาคม 2495 จำนวน 166 เรื่อง
- คอลัมน์ “ปุษกริณี” ใน อักษรสาส์น (รายเดือน) เดือนเมษายน 2492 – กรกฎาคม 2493 จำนวน 13 เรื่อง
3. กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยามเล่ม 3 ครอบคลุมกาพย์กลอนจำนวน 49 เรื่อง ที่ตีพิมพ์ในระหว่าง พ.ศ. 2501 – 2502 ดังนี้
- คอลัมน์ “นายผีเขียน ‘อักษราวลี’” ในหนังสือพิมพ์ปิยมิตรวันจันทร์ พ.ศ. 2501 – 2502 จำนวน 40 เรื่อง
- หนังสือพิมพ์สยามนิกร พ.ศ. 2501 จำนวน 9 เรื่อง
ทั้งนี้กาพย์กลอนที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนตัวและกาพย์กลอนที่เขียนภายหลังจากปี 2502 ไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่คุณวิมลเตรียมต้นฉบับไว้ จึงขอแยกไปไว้ในหนังสือ ความงามของชีวิต โดย วิมล พลจันทร ซึ่งจะจัดพิมพ์ต่อไป
(ข) การชำระต้นฉบับ สำนักพิมพ์อ่านชำระต้นฉบับตามที่คุณวิมลรวบรวมและจัดทำต้นร่างไว้ แต่เราได้สอบทานต้นร่างซ้ำโดยเปรียบเทียบกับผลงานกาพย์กลอนของนายผีทั้งที่เป็นต้นฉบับลายมือ เอกสารอัดสำเนาและไมโครฟิล์มจากสิ่งพิมพ์ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกเท่าที่จะสืบค้นได้ รวมทั้งผลงานบางส่วนที่เคยจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มหนังสือก่อนหน้านี้ อาทิ กาพย์กลอนนายผี, รำลึกถึงนายผีจากป้าลม และ รำฤกถึงนายผีจากป้าลม รวมทั้งปริญญานิพนธ์เรื่อง “วิเคราะห์บทร้อยกรองของ ‘นายผี’” ของคุณสุจิราคุปตารักษ์
(ค) การอ้างอิงข้อมูลการตีพิมพ์ ระบุตามที่คุณวิมลได้รวบรวมไว้ในชั้นต้น แต่เราได้ตรวจสอบและเพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับวันเดือนปีที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเท่าที่สามารถทำได้เพื่อประโยชน์ในการค้นคว้าต่อไป ทั้งนี้จะเห็นว่ารายละเอียดการอ้างอิงอาจดูลักลั่นกันอยู่ กล่าวคือ บางรายการระบุข้อมูลการตีพิมพ์ครั้งแรกโดยละเอียด ทั้งชื่อสิ่งพิมพ์วันเดือนปีและเลขหน้า แต่บางรายการมีข้อมูลเพียงบางส่วน เนื่องจากในการสืบค้นเอกสารชั้นต้นในหอสมุดต่างๆ พบว่าบางส่วนอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลาและการดูแลรักษา และบางส่วนสูญหายไปหรือไม่ได้เก็บรวบรวมอยู่ในรายการจัดเก็บ เช่น เราพบต้นฉบับกาพย์กลอนนายผีในหนังสือพิมพ์ เอกชน ทั้งหมด ซึ่งมีจัดเก็บในรูปไมโครฟิล์มในหอสมุดแห่งชาติ แต่เนื่องจากเป็นเอกสารเก่าที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2484 จึงอ่านไม่ได้ชัดเจนครบถ้วน ส่วนกาพย์กลอนที่ตีพิมพ์ใน สยามนิกร เราตรวจสอบจากเอกสารอัดสำเนาเท่าที่คุณวิมลรวบรวมไว้ก่อนหน้านี้แล้วส่วนหนึ่ง และสอบทานกับปริญญานิพนธ์ “วิเคราะห์บทร้อยกรองของ ‘นายผี’” ของสุจิรา คุปตารักษ์ แต่ไม่สามารถจะสอบทานกับต้นฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกได้เนื่องจากไมโครฟิล์มของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ชำรุดเสียหายแล้ว เป็นต้น
ในส่วนสรุปสถานการณ์การเมืองสยาม รวมทั้งไขคำ/สถานการณ์ที่อยู่ท้ายกาพย์กลอนแต่ละเรื่อง สำนักพิมพ์อ่านได้จัดทำอ้างอิงเพิ่มเติมไว้ท้ายข้อความ เช่น [สุจิรา, น.xxx] หมายถึงข้อมูลที่มาจาก “วิเคราะห์บทร้อยกรองของ ‘นายผี’” ส่วนไขคำ /สถานการณ์ที่คุณวิมลเขียนเองจะมีวงเล็บ [วิมล พลจันทร] อยู่ท้ายข้อความ ไขคำ /สถานการณ์ที่ไม่มีวงเล็บระบุเป็นอย่างอื่น “นายผี” เป็นผู้เขียน
อย่างไรก็ดี เนื่องจากต้นฉบับลายมือของนายผีเป็นเอกสารเก่าและมีบางส่วนชำรุดแล้ว จึงได้ทำเครื่องหมาย [...] แสดงข้อความที่ไม่สามารถอ่านได้ไว้ด้วย
4. การใช้ภาษา การจัดพิมพ์ครั้งนี้คงการสะกดคำต่างๆ ไว้ตามต้นร่างเอกสารซึ่งได้พยายามสอบทานให้ตรงกับต้นฉบับลายมือและต้นฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกเพื่อรักษารูปแบบการใช้ภาษาของยุคสมัยไว้ตามหลักเกณฑ์ของบรรณาธิการผู้จัดทำต้นร่าง
นอกจากนั้น ในการจัดพิมพ์ครั้งนี้เรายังได้พยายามรักษาโครงสร้างวรรคตอนของกาพย์กลอนไว้ตามต้นฉบับการตีพิมพ์ครั้งแรกเท่าที่สืบค้นมาได้ แต่เนื่องจากกาพย์กลอนทั้งหมดตีพิมพ์อยู่ในสิ่งพิมพ์ต่างฉบับกัน และในช่วงเวลายาวนานตั้งแต่ พ.ศ. 2484-2502 โครงสร้างวรรคตอนในต้นฉบับจึงแตกต่างกันไป ไม่มีแบบแผนเด็ดขาด การจัดพิมพ์ในครั้งนี้จึงพิจารณาเรื่องนี้ประกอบกับรูปแบบการจัดหน้าหนังสือตามความเหมาะสมด้วย
การจัดพิมพ์ กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม ครั้งนี้ สำนักพิมพ์อ่านได้รับน้ำใจและความช่วยเหลืออย่างดีจากคุณชลิดา ทาเจริญศักดิ์, คุณไทเรล ฮาเบอร์คอร์ณ, คุณธิกานต์ ศรีนารา, คุณสมิทธิ์ ถนอมศาสนะ, คุณสรณ ขจรเดชกุล, คุณสุพจน์ แจ้งเร็ว และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณสุจิรา คุปตารักษ์ ผู้เขียนปริญญานิพนธ์เรื่อง “วิเคราะห์บทร้อยกรองของ ‘นายผี’” ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงสำคัญ จึงขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้
เอกสารต้นร่าง กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของคุณวิมลมาลี พลจันทร ซึ่งได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะมอบต้นร่างทั้งหมดพร้อมกับเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณอัศนีให้แก่หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเก็บรักษาและเผยแพร่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชนต่อไป
สำนักพิมพ์อ่านขอขอบคุณ คุณวิมลมาลี พลจันทร อย่างยิ่งที่ให้โอกาสเราได้แสดงความขอบคุณและคารวะต่อคุณอัศนีและคุณวิมล พลจันทร ผู้มีส่วนนำทางให้คนรุ่นหลังได้แสวงหา “ความคิดก้าวหน้า” ในการเปลี่ยนแปลงสังคม ความบกพร่องใดๆ ในการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ถือเป็นความรับผิดชอบของสำนักพิมพ์อ่าน

*****************************************************************************************

กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยามเล่ม 1 (พ.ศ. 2484-2490)
โดย นายผี
ราคา 220.-
สั่งซื้อได้ที่ www.tpnewsbook.com / ร้านทีพีนิวส์ ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว ชั้น 4 โทร. 085-5049944



"นายผี" หนังสือพิมพ์ใหม่ จากสนพ.อ่าน

ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน : ศรีอินทรายุธ

โครงการอ่านนายผี ลำดับที่ 1



ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน โดย ศรีอินทรายุธ (นายผี, อัศนี พลจันทร)

หนังสือเล่มแรกในโครงการ “อ่านนายผี”
หมายเหตุจากสำนักพิมพ์
เนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์

ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน โดย “ศรีอินทรายุธ” เป็นหนังสือใน “โครงการอ่านนายผี” ซึ่งสำนักพิมพ์อ่านได้รับอนุญาตจากคุณวิมลมาลี พลจันทร บุตรสาวของคุณอัศนี พลจันทร ให้จัดพิมพ์ออกสู่สาธารณชนพร้อมกับ กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม ในวาระ 95 ปีชาตกาลของคุณอัศนี พลจันทร ซึ่งตรงกับวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2556
สำนักพิมพ์อ่านเลือกนำ ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน มาจัดพิมพ์ใหม่เป็นเล่มแรกของโครงการฯ ก็เนื่องจากว่าหนังสือเล่มนี้ควรนับว่าเป็นผลงานแรกสุดเล่มหนึ่งของคุณอัศนีที่มีการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มเมื่อ พ.ศ. 2501 โดยก่อนหน้านี้งานเขียนของคุณอัศนีมีตีพิมพ์เผยแพร่เป็นเรื่องๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ เท่านั้น และหากจะมีกรณียกเว้นก็น่าจะมีกรณีเดียว คือการจัดพิมพ์ จากพระลอและศรีบูรพา โดยสำนักพิมพ์สหบรรณกรในปี 2495 แต่หนังสือดังกล่าวเป็นงานรวมบทความสองเรื่องของนักเขียนสองคน คือ “ลิลิตพระลอ…วรรณคดีศักดินา” ของ “อินทรายุธ” ซึ่งตีพิมพ์ในคอลัมน์ “ข้อคิดจากวรรณคดี” ใน อักษรสาส์น (เมษายน 2492) และบทความ “ดูวรรณคดีจากสังคม ดูสังคมจากวรรณคดี” ของ “พ. เมืองชมพู” โดยมีอารัมภกถา “ข้อคิดเกี่ยวกับการวิจารณ์ศิลปวรรณคดี” บรรจุอยู่ด้วย*  แต่ข้อมูลสำคัญที่ทำให้ระบุได้ว่า มีการจัดพิมพ์หนังสือของคุณอัศนีตามลำพังเมื่อ พ.ศ. 2501 ก็คือ คำบอกเล่าของคุณอารีย์ พื้นนาค เจ้าของสำนักพิมพ์อักษรวัฒนา:

ประมาณ พ.ศ. 2500 วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ คุณอุดม สีสุวรรณ ได้นัดผมให้มาพบกันที่หน้าโรงภาพยนตร์
โอเดียน สามแยก (ซึ่งปัจจุบันได้ถูกรื้อถอนเพื่อทำกิจการอื่นไปแล้ว) เป็นเวลาประมาณ 6 โมงเช้า แล้วขึ้นรถไปที่บ้านของคุณอัศนี พลจันทร ด้วยกันเพื่อไปพบปะพูดคุย และรับต้นฉบับที่คุณอัศนีจะมอบให้ผมไปจัดพิมพ์จำหน่าย เมื่อรถของเราถึงตลาดพระโขนง เรายังต้องนั่งเรือต่อเข้าไปตามลำคลองอีก เมื่อขึ้นฝั่งไปก็ต้องเดินเท้าไปตามร่องสวนอีกระยะหนึ่งจึงถึง ซึ่งคุณอัศนีได้รอเราสองคนอยู่แล้ว อาหารเช้าวันนั้น คุณอัศนีเลี้ยงต้อนรับเราด้วยกาแฟ ไข่ลวก และมีขนมปังปิ้งทาเนยอีกต่างหาก ระหว่างจิบกาแฟคุยกัน คุณอัศนีได้ถามผมถึงเรื่องการค้าขายแบบเรียนเครื่องเขียนและการพิมพ์หนังสือเรื่องอื่นๆ ที่ได้ดำเนินการอยู่ว่าเป็นอย่างไรบ้าง จากนั้นคุณอัศนีได้ส่งแฟ้มแข็งสองแฟ้ม ซึ่งเป็นต้นฉบับงานของท่าน รวมทั้งหมดมี 4 เรื่อง คือ “รวมกาพย์กลอน ‘นายผี’ ชุดที่ 1 และชุดที่ 2” เล่มที่ 3 คือ “ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน” โดยใช้นามปากกา “อินทรายุธ” เล่มที่ 4 เป็นเรื่องที่แปลมาจากภาษาสันสกฤตชื่อ “ภควัทคีตา” งานประพันธ์ของท่านที่มอบให้ผมจัดพิมพ์ วางตลาดได้เพียง 3 เล่มเท่านั้น สำหรับเล่มที่ 4 ไม่ได้จัดพิมพ์เพราะผมถูกจับในข้อหาคอมมิวนิสต์เสียก่อน ซึ่งถูกศาลทหารในขณะนั้นตัดสินจำคุก 6 ปี (อารีย์ พื้นนาค,“เสี้ยวหนึ่งแห่งกาลเวลา”,ชีวิตและผลงาน: ตำนาน ‘นายผี’ อัศนี พลจันทร (2461-2530), กรุงเทพฯ: คณะกรรมการจัดงานนายผีคืนถิ่นแผ่นดินแม่, 2541, น. 223.)


นอกจากนั้น นิตยสาร สายธาร ฉบับเดือนมิถุนายน 2501 ก็มีโฆษณาจำหน่ายหนังสือ กาพย์กลอนนายผี เล่ม 2 และศิลปาการแห่งกาพย์กลอน ของอักษรวัฒนาด้วย โดยระบุราคาจำหน่ายที่ 2 และ 4 บาทตามลำดับ
สำนักพิมพ์อ่านได้สืบค้นหนังสือตามคำบอกเล่าของคุณอารีย์ แต่น่าเสียดายว่าเราไม่พบจากแหล่งข้อมูลใดๆ จนกระทั่งปลายปี 2555 คุณไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์อ่าน ได้พบหนังสือ กาพย์กลอนนายผี ในหอสมุดของมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา ในระหว่างการเข้าร่วมงานสัมมนาเรื่อง “The Politics of Criticism in Thailand: Arts and Aan” ซึ่งจัดโดยโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยคอร์แนล จึงได้จัดทำสำเนานำกลับมาเพื่อใช้ในการชำระต้นฉบับผลงานของคุณอัศนีต่อไป ส่วน ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน นั้นเรายังไม่พบฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก แต่ได้สืบค้นพบฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2-4 จากหอสมุดหลายแห่ง จึงนำมาใช้ในการชำระต้นฉบับครั้งนี้ ดังจะกล่าวในรายละเอียดต่อไป
เมื่อพิจารณาช่วงเวลาที่ “ศรีอินทรายุธ” เขียนหนังสือ ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน อาจกล่าวว่าเป็นระยะที่เขาได้ตกผลึกทางความคิดเกี่ยวกับกาพย์กลอนมาแล้วไม่น้อยหลังจากที่ใช้นามปากกา “นายผี” และ “อ.ส.” เขียนงานในเวทีต่างๆ มาแล้วเกือบ 300 เรื่อง นับตั้งแต่ เอกชน (รายสัปดาห์), นิกรวันอาทิจสยามนิกร (รายวัน), สยามสมัย(รายสัปดาห์), อักษรสาส์น (รายเดือน) รวมทั้งหนังสือพิมพ์ที่เป็นเสียงให้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย คือมหาชน (รายสัปดาห์) เป็นต้น ทั้งนี้ยังไม่นับว่าเขาได้ผ่านสถานการณ์วิกฤตทางการเมืองครั้งสำคัญๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีกบฏสันติภาพ (10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495) ซึ่งทำให้เขาต้องหลบหนีเพทภัยคุกคามชีวิตและหยุดเขียนงานลงตามหน้าหนังสือพิมพ์ไปจนถึงปี 2500
“ศรีอินทรายุธ” เล่าไว้ในช่วงต้นของปรารภการของหนังสือเล่มนี้ ว่าหลังจากที่เขาได้อ่านหนังสือ ลำนำแห่งเจ้าพระยาซึ่ง เจษฎา วิจิตร รวบรวมกาพย์กลอนของ 10 นักเขียนกลอนมาจัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2500 แล้ว เขามีความเห็นว่าวงการกาพย์กลอนของไทยจะขยายตัวต่อไปอย่างองอาจและสง่าผ่าเผย และ “คำว่า ‘กวีฤๅแล้งแหล่งสยาม’ เป็นคำที่จริงอยู่ตลอดไป” (น. 32)
คำชื่นชมและให้กำลังใจกวีรุ่นใหม่โดยย้อนกลับไปหาวลีสำคัญในงานชิ้นเอกสมัยอยุธยาเรื่อง สมุทรโฆษคำฉันท์ นี้ ชวนให้นึกไปถึงกาพย์กลอนเรื่องแรกที่ “อ.ส.” แต่ง คือ “อัญเชิญ” (เอกชน, 1:2, 18 ม.ค. 2484, น. 20) ซึ่งมีเนื้อหาเชิญชวนกวีเขียนกาพย์กลอนเพื่อจะช่วยฟื้นฟูวงการกวีให้พ้นจากภาวะซบเซา แต่เมื่อไม่มีผู้ใดขานรับ “อ.ส.” จึงได้เขียน “ยอมแล้วฤๅ” (เอกชน, 1:14, 12 เม.ย. 2484, น. 39) เปรียบเปรยแกมประชดว่า ถ้า สมุทรโฆษคำฉันท์ แต่งค้างมาถึงขณะนั้น ก็คงจะไม่มีผู้ใดแต่งต่อได้:
สรวลสมุทร โฆเรศเรื้อง รจนา
สรวลปรมานุชิตสรวล ศัพทไท้
สรวลเสียงกวีสา รสร่ำ ฤๅพ่อ
สรวลกวีแล้งไร้ แหล่งสยาม
ปรากฏว่า ฉันทิชย์ กระแสสินธ์ุ กวีผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งในยุคนั้น เขียนกาพย์กลอน “กวีวงศ์” (เอกชน, 1:16, 26 เม.ย. 2484, น. 36-37) ตอบรับคำเชิญนี้ และ “อ.ส.” ก็ได้เขียนกาพย์กลอน “ความปิติ” แสดงความยินดีลงในเอกชน ฉบับเดียวกัน (น. 38)**
ต่อมาเมื่อ “นายผี” เขียนกาพย์กลอนลงเป็นประจำในคอลัมน์ “วรรณมาลา” ใน สยามนิกร (ก.ค. 2489-พ.ค.2490) และคอลัมน์ “อักษราวลี” ใน สยามสมัย (พ.ค. 2490-ส.ค. 2495) เขาได้ใช้กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองอย่างต่อเนื่อง และยังขยายข้อเรียกร้องต่อกวีให้ร่วมมือกันต่อสู้กับความไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรมต่างๆ ในสังคมด้วย ตัวอย่างเรื่องหนึ่งคือ “Poets of All Countries Unite!” (สยามสมัย, ต.ค. 2492, น. 18) ซึ่งเปรียบเทียบว่ากาพย์กลอนคือ “ไถทิพ” ซึ่งกวีพึงใช้ในการขจัดสิ่งไม่ถูกต้องต่างๆ ไปเสีย ดังข้อความตอนหนึ่ง:
อันไถทิพลิบมายังหล้าโลก
ศุภโยคยอดกวีที่เสถียร
วิธีไถคือวิธีกวีเวียน
วาดอาเกียรณ์กลอนทิพระยิบระยับ
ใน พ.ศ. 2500 จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนบทความวิจารณ์กาพย์กลอน “อีศาน” และยกย่อง “นายผี” ว่าเป็น “กวีของประชาชน”*** และในปีเดียวกันนี้เองที่คุณอัศนีหวนคืนสู่เวทีงานเขียนอีกครั้งเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองผ่อนคลายลงบ้างแล้ว โดยเขาได้นำข้อเสนอแนะและข้อเรียกร้องต่อกวีและนักกลอนมาเขียนใน ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน
อีกทั้งยังระบุว่าได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากหนังสือ ลำนำแห่งเจ้าพระยา ดังกล่าวข้างต้น
ปีถัดมา คุณอัศนีเริ่มเขียนงานลงหนังสือพิมพ์ ปิยมิตรวันจันทร์ กับนิตยสาร สายธาร เขากล่าวย้ำอีกครั้งถึงความหวังที่มีต่อกวีและนักกลอนรุ่นใหม่ ในข้อเขียนเปิดคอลัมน์ “จดหมายในหมู่มิตร” (สายธาร, พ.ค. 2501, น. 80) ซึ่งใช้รูปแบบของจดหมาย เขียนถึงเสนีย์ เสาวพงศ์ ตอนหนึ่ง:

ที่ผมส่งลำนำแห่งเจ้าพระยามาให้คุณอ่านนั้นก็เพื่อจะให้คุณได้มีโอกาศทราบว่า; ในสมัยของเรานี้ มีหนุ่มสาวนักกลอนเกิดขึ้นไม่น้อย, และที่เป็นกวีก็ มีอยู่หลายคน, กาพย์กลอนที่เขาเขียนพลั่งพรูออกมานั้นเป็นสิ่งอันแสนพิสวง. ไม่เพียงแต่จะเป็นกาพย์กลอนที่อ่านได้ไพเราะเพราะพร้อง. มีสำนวนและโวหารอันชวนให้ติดใจ, หากยังเป็นกาพย์กลอนที่ชวนให้คิดอีกด้วย, นักกลอนและกวีเหล่านี้เป็นคนที่ควรนับถือก็ที่เป็นคนมีความคิดของตนเองแลได้ใช้ความคิดของตนเองเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์. มีคนอยู่อีกจำพวกหนึ่งเหมือนกันที่เห็นเขาเขียนกลอนก็เลยเขียนกับเขาบ้าง, อ่านดูแล้วไม่เห็นมีอะไรอยู่ในกลอนของเขามากไปกว่าตัวหนังสือที่เอามาเรียงๆ กันเข้าไว้จำนวนหนึ่ง-ไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง! ความไพเราะของกาพย์กลอนนั้น มิใช่เพียงแต่การกระทบกันฤๅการคล้องจองกันของคำต่างๆ เหล่านั้นมิใช่หรือ? ในลำนำแห่งเจ้าพระยานั้น, นอกจากคุณจะได้เห็นกาพย์กลอนที่ดีๆ หลายบท, นอกจากคุณจะได้เห็นคนหลายคนกำลังจะกลายเป็นความพากพูมของสยามใหม่อย่างที่ใครคนหนึ่งว่า, คุณยังจะได้เห็นสำนวนใหม่ๆ เกิดขึ้นในวงการหนังสือของเรา แลสำนวนเหล่านี้กลายเป็นที่ติดปาก, ติดตา, และติดใจแก่คนทั่วไป; อย่างน้อยก็ที่ว่า: ‘ดวงเดือนรูปเคียว’, ‘สายธารแห่ง…’ ฯลฯ (สะกดตามต้นฉบับ – สนพ. อ่าน)

เมื่อพิจารณาที่เนื้อหา ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน มีข้อแตกต่างอย่างสำคัญจากหนังสือว่าด้วยกาพย์กลอนส่วนใหญ่ กล่าวคือ ในขณะที่หนังสือว่าด้วยกาพย์กลอนมักให้ความสำคัญกับแบบแผนหรือกฎเกณฑ์ทางด้านฉันทลักษณ์ของกาพย์กลอนประเภทต่างๆ**** หนังสือเล่มนี้กลับมุ่งกล่าวถึงปัญหาเบื้องต้นของการเขียนกาพย์กลอนเช่นว่า กาพย์กลอนคืออะไร รูปการและเนื้อหาของกาพย์กลอนคืออะไร เกี่ยวข้องกับการเขียนกาพย์กลอนอย่างไร กวีและนักกลอนแตกต่างกันหรือไม่ และควรใช้แบบวิธีใดบ้างในการเขียนกาพย์กลอน เป็นต้น การวางน้ำหนักของหนังสือเล่มนี้จึงอยู่ที่ทรรศนะหรือจุดยืนในการเขียนกาพย์กลอนมากกว่าเรื่องฉันทลักษณ์ และขณะที่ศรีอินทรายุธชื่นชมกวีรุ่นใหม่ๆ ว่ามีจินตนาการค่อนข้างลึกซึ้งและมีฝีมือแหลมคม เขาก็ได้อธิบายให้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าการเขียนกาพย์กลอนเพื่อ “กล่อมโลก” หรือ “ค้ำจุนโลก” ไว้นั้นยังไม่เพียงพอ และยิ่งจะเป็นสิ่งไม่ถูกต้องหากกล่อมโลกให้หลับไม่ลืมตาตื่นขึ้นดูความกดขี่และทารุณกรรมหรือคอยค้ำจุนโลกแห่งความเหลื่อมล้ำต่ำสูงและเอารัดเอาเปรียบกันไว้ ดังที่เขาได้ระบุในตอนท้ายหนังสือว่า

ศิลปาการแห่งกาพย์กลอนมิใช่เครื่องกล่อมโลกให้หลับอยู่ในมายา และก็มิใช่เครื่องพิทักษ์รักษา ฤๅค้ำจุนโลกอันเลวร้ายน่าอิดหนาระอาใจนี้. ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน แท้ที่จริงแล้วก็คือ กาพยายุธอันคมกล้าที่ได้ช่วยผลักดันโลกให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดชะงักฤๅที่ได้ช่วยพิทักษ์มิให้ใครยื้อ ยุดฉุดกลับหลัง. พลังแห่งศิลปาการนี้มีสุดที่จะคณนา, เพียงแต่ว่าขอให้กวีและนักกลอนรู้จักใช้. มิฉะนั้นไซร้ศิลปาการแห่งกาพย์กลอนก็จักไม่มีประโยชน์. (น. 110-111)

เนื้อหาที่แตกต่างไปจากหนังสือกาพย์กลอนทั่วไปเช่นนี้ รวมทั้งความเห็นว่ากาพย์กลอนเป็นสิ่งสะท้อนชีวิตที่เป็นจริงของสังคมและ “ย่อมเป็นสิ่งที่รับใช้การต่อสู้กันของความขัดแย้งในสังคมไม่มากก็น้อย” (น. 85) คงจะก่อให้เกิดข้อถกเถียงในแวดวงนักเขียนอยู่ไม่น้อยเมื่อหนังสือเล่มนี้ออกวางจำ หน่าย เพราะเมื่อคุณอัศนีเขียนคอลัมน์ “พูดไปสองไพเบี้ย รู้แล้วนิ่งเสีย บา บ่า บ้า” ใน สายธาร ฉบับเดือนกันยายน 2501 เขาได้กล่าวตำหนิข้อเขียนในสัปดาห์สาร(ปีที่ 1 ฉบับที่ 11) ว่าใช้วิธีตัดตอนทอนความใน ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน ลงเป็นท่อนๆ จนทำให้ผู้อ่านเกิดความไขว้เขว เข้าใจผิดว่าผู้แต่งต้องการทำลายกวีและนักกลอนที่มีมนุษยธรรมและ “เตือนไม่ได้” เพราะเป็นกวีที่ไม่ได้อยู่ข้างเดียวกับตน ทั้งที่จริงๆ แล้ว “ศรีอินทรายุธ” ระบุว่ามนุษยธรรมเป็นต้นทางของการก้าวไปสู่ความถูกต้อง แต่ที่เขามองว่าเป็นอุปสรรคก็เนื่องว่าผู้มีมนุษยธรรมมักต้องการแก้ความขัดแย้งที่ผล ไม่ได้มุ่งแก้ที่เหตุ
“ศรีอินทรายุธ” ได้ชี้แจงความเห็นของเขาต่อประเด็นมนุษยธรรมกับการเขียนกาพย์กลอนไว้แล้วในหนังสือเล่มนี้ และนี่คืออีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้ ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน แตกต่างไปจากหนังสือร่วมยุคสมัยในหมวดหมู่เดียวกัน อย่างไรก็ดีการกลับไปอ่านงานเขียนอายุมากกว่า 50 ปีเล่มนี้อีกครั้งก็ไม่น่าจะเป็นเพียงการอ่านอย่างหวนหาอดีต เพราะทรรศนะต่อแวดวงกาพย์กลอนที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้จะชวนให้ผู้อ่านคิดเปรียบเทียบกับวงการกาพย์กลอนไทยในปัจจุบันซึ่งกำลังต่อสู้กันท่ามกลางความขัดแย้งทางความคิดครั้งใหญ่ในสังคม
สำนักพิมพ์อ่านคาดหวังว่า การจัดพิมพ์ ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน และ กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม เนื่องในวาระ 95 ปีชาตกาลคุณอัศนี พลจันทร จะเป็นการกลับไปตั้งต้นที่เจตนารมณ์แรกของคุณอัศนีเมื่อครั้งที่เขานำงานเขียนมาพิมพ์เผยแพร่ “แด่ประชาชน” ดังคำอุทิศในหนังสือ กาพย์กลอนนายผี อีกครั้งหนึ่ง และหลังจากนี้เราจะทยอยจัดพิมพ์ผลงานเรื่องอื่นๆ ของคุณอัศนีตามที่ได้รับอนุญาตจากคุณวิมลมาลี พลจันทร ทายาทผู้ดูแลต้นฉบับผลงานทั้งหมด สำนักพิมพ์อ่านขอขอบคุณคุณวิมลมาลี พลจันทร เป็นอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้
การจัดพิมพ์ ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ห้าหลังจากที่สำนักพิมพ์อักษรวัฒนาเป็นผู้จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ 55 ปีก่อน กลุ่มทัพหน้ารามจัดพิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ. 2518, สำนักพิมพ์ไทยศึกษาจัดพิมพ์ครั้งที่สาม พ.ศ. 2521 และสำนักพิมพ์ทะเลหญ้าจัดพิมพ์ครั้งที่สี่ พ.ศ. 2534
สำนักพิมพ์อ่านได้ชำระต้นฉบับ โดยใช้เกณฑ์ดังนี้
1. การคัดเลือกต้นร่างสำหรับการจัดพิมพ์ สำนักพิมพ์อ่านได้สืบค้นจากหอสมุดแห่งชาติและหอสมุดมหาวิทยาลัยต่างๆ ปรากฏว่าไม่พบฉบับพิมพ์ครั้งแรกในแหล่งใดๆ แต่พบฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2-4 กระจายอยู่ตามหอสมุดต่างๆ จึงได้รวบรวมมาเพื่อใช้ในการตรวจสอบและชำระต้นฉบับ
เมื่อเปรียบเทียบต้นฉบับเหล่านี้ พบว่าความแตกต่างสำคัญคืออักขรวิธี เข้าใจว่าผู้จัดพิมพ์ครั้งที่สองได้ปรับปรุงการเขียนสะกดการันต์ให้สอดคล้องตามแบบแผนการใช้ภาษาในระยะเวลาที่ตีพิมพ์ ส่วนผู้จัดพิมพ์ครั้งที่สามระบุในคำนำเสนอว่า “นำเอาฉบับที่ตีพิมพ์ปี 2501 มาเป็นแบบอย่าง และได้แก้ไขข้อบกพร่องบางประการที่มีอยู่ในฉบับเดิมนั้นด้วย” และผู้จัดพิมพ์ครั้งที่สี่ก็ได้ยึดตามฉบับพิมพ์ครั้งที่สาม สำนักพิมพ์อ่านจึงได้เลือกฉบับพิมพ์ครั้งที่สามและสี่เป็นต้นร่างในการชำระ โดยคงอักขรวิธีตามเดิมไว้ตามที่คุณวิมล พลจันทร คู่ชีวิตของคุณอัศนี และคุณวิมลมาลี ต้องการให้รักษารูปแบบภาษาต้นฉบับไว้ตามยุคสมัย
อนึ่ง คำใน ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน ที่เขียนสะกดการันต์ตามต้นฉบับแต่แตกต่างจากอักขรวิธีในปัจจุบันได้แก่ กระดุมพี, กระแสร์, จารีตรนิยม, จ้าว, ฉะบับ, ฉะเพาะ, ชะนะ/ชำนะ, ชะนิด, โซร่, ตระหลบ, ทนุถนอม, ทราบซึ้ง, เทฆนิค, เทอด, นิราส, บรรเจอด, บุบผชาติ, ประสพ, ปราณี, ปลาด, เปน, พากพูม, พูลสุข, มืดมนธ์, มเหษี, รังสรร, รำพรรณ, ลางเลือน, ศักติสิทธิ์, ศิลป, ศิลปะ, ศูนย์เสีย,โศรก, สกด, สดวก, สท้อน, สมบัท, สร้างสรร, เสทือน, อิศรเสรี, อีศาน, โอกาศ, เหน็จเหนื่อย, โหยหวล เป็นต้น
กรณีที่สำนักพิมพ์อ่านมีการเพิ่มข้อมูลจากต้นฉบับเดิม จะใส่ไว้ในเชิงอรรถโดยระบุว่าเป็นเชิงอรรถโดย บ.ก.
2. การวางรูปเล่ม/การจัดหน้า เป็นไปตามแบบวิธีของสำนักพิมพ์อ่าน เช่น จัดข้อความในย่อหน้าแรกของเรื่อง และย่อหน้าแรกของหัวข้อให้ชิดซ้ายโดยไม่เว้นระยะย่อหน้า แต่รักษาวรรคตอนและการใช้เครื่องหมายต่างๆ ตามต้นฉบับไว้ ยกเว้นในกรณีที่เห็นว่าอาจทำให้การสื่อความหมายกำกวม จะปรับปรุงให้เหมาะสม
การเน้นข้อความสำคัญก็คงไว้ตามต้นฉบับเช่นกัน ทว่าไม่ใช้อักษรตัวหนาตามแบบวิธีที่นิยมกันในสมัยก่อนและปรับปรุงเสียใหม่โดย
(ก) ข้อความสั้น ใช้เครื่องหมาย “….” หรือตัวเอนอย่างใดอย่างหนึ่ง แสดงการเน้น และ
(ข) ข้อความยาว ใช้อักษรตัวเอน แสดงการเน้น
การอ้างอิงชื่อหนังสือหรือสิ่งพิมพ์รายคาบ ใช้อักษรตัวเอนตามแบบวิธีที่นิยมในปัจจุบัน แทนที่จะเป็นอักษรตัวหนาหรือใส่เครื่องหมาย “…” ดังแต่ก่อน
3. บรรณานุกรมและดัชนี สำนักพิมพ์อ่านเห็นว่าหนังสือเล่มนี้มีการอ้างอิงตัวบทวรรณกรรมทั้งไทยและเทศอยู่หลายที่ จึงได้ตรวจทานกับหนังสือต้นฉบับ พร้อมทั้งจัดทำระบบอ้างอิงแหล่งที่มาและบรรณานุกรม เพื่อให้ผู้อ่านติดตามอ่านได้เพิ่มเติม นอกจากนั้นยังได้จัดทำดัชนีคำไว้ท้ายเล่มเพื่อความสะดวกในการสืบค้นด้วย
การชำระต้นฉบับดังกล่าวข้างต้นนี้ก็เพื่อประโยชน์แก่การอ่าน กระนั้นก็ตาม สำนักพิมพ์อ่านขอน้อมรับความผิดพลาดใดๆ ที่อาจมีอยู่ในการจัดพิมพ์ ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน ครั้งนี้
********************************************************************************
ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน โดย ศรีอินทรายุธ (นายผี, อัศนี พลจันทร)
หนังสือเล่มแรกในโครงการ “อ่านนายผี”
ราคา 130.-
สั่งซื้อได้ที่ www.tpnewsbook.com / ร้านทีพีนิวส์ ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว ชั้น 4 โทร. 085-5049944




วันเสาร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2557

"ทัณฑะกาล" ของจิตร ภูมิศักดิ์ หนังสือใหม่จากสำนักพิมพ์ "มติชน"


ผู้เขียนอธิบายถึงนักคิดนักเขียนคนสำคัญอีกคนหนึ่งในสังคมไทย โดยเน้นถึงชีวิตประจำวันของจิตร ภูมิศักดิ์ และเพื่อนผู้ต้องขังการเมืองในคุกลาดยาวช่วงทศวรรษ ๒๕๐๐ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จิตรผลิตงานออกมาจำนวนมาก ภายใต้โลกแห่งการคุมขังเป็นชีวิตที่ไม่เคยหยุดนิ่ง และเหี่ยวเฉาไปตามประกาศิตการลงทัณฑ์ของรัฐบาล น่าจะเป็นช่วงชีวิตที่สำคัญช่วงหนึ่งในการเข้าใจ จิตร และเรื่องราวล้อมรอบตัวเขา ภายใต้บริบททางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมต้นทศวรรษที่ 2500 

*****************************************************************


ทำความรู้จักผู้เขียน : ดร.วิลลา วิลัยทอง

ประวัติการศึกษา  ปริญญาตรี (สื่อสารมวลชน) เชียงใหม่ พ.ศ. 2536
ปริญญาตรี (ธุรกิจระหว่างประเทศ) International Pacific College พ.ศ.2538
ปริญญาตรี (เกียรตินิยม) - ปริญญาโท (ประวัติศาสตร์)
The University of Auckland พ.ศ.2544, 2545
ปริญญาเอก (การศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) The Australian National
University พ.ศ. 2550

สาขาวิชาที่เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่, ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้websitehttp://www.arts.chula.ac.th/~history/viewteacher.php?id=15

ผลงานทางวิชาการ

บทความวิชาการ
วิลลา วิลัยทอง.  กำเนิดอาชีพนักโฆษณาไทย ระหว่างทศวรรษ 2490 ถึง 2510  ศิลปวัฒนธรรม 30,4 (กุมภาพันธ์ 2552): 122-137.

บทความวิชาการ
วิลลา วิลัยทอง  จิตร ภูมิศักดิ์ นักโทษการเมือง และคุกสมัยสฤษดิ์ ชนะรัชต์  (อยู่ระหว่างการดำเนินการ) 2553-2554

บทความวิจัย
วิลลา วิลัยทอง.  "ไอ้ฤทธิ์กันแบล็ค!': โฆษณาสุราแบล๊คแคท ความตลกและการบริโภคเชิงสัญญะในสังคมไทย ปลายทศวรรษที่ 2530."  วารสารไทยศึกษา ปีที่ 7 ฉบับที่ 1 (กุมภาพันธ์-กรกฏาคม 2554): 185-224.

บทความวิจัย
วิลลา วิลัยทอง.  "Khu Khaeng Magazine, Marketing Knowledge, and Lifestyle Consumption in Thailand in the 1980s"  2012 Asia- Pacific Economic and History Conference 16-18 Feb, 2012. ANU College of Business and Economics, Australia.

บทความวิจัย
วิลลา วิลัยทอง.  "ทัณฑะกาล" ของจิตร ภูมิศักดิ์และผู้ต้องขังการเมืองสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ. 2501 - พ.ศ. 2501-พ.ศ. 2506)."  อยู่ระหว่างการประเมิน เพื่อตีพิมพ์เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือรวมบทความ "80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์"

บทความวิจัย
วิลลา วิลัยทอง  การเผชิญหน้ากับโลกาภิวัฒน์ของธุรกิจไทย:นิตยสารคู่แข่ง (พ.ศ.2524 -2542)  (อยู่ระหว่างการดำเนินการ) 2551-2554

งานวิจัย
วิลลา วิลัยทอง  Fashioning Thai Silk :Queen Sirikit,Jim Thompson. and the Silk Business pn Thailand, 1950s-1960s  (อยู่ระหว่างการดำเนินการ) 2552

งานวิจัย
วิลลา วิลัยทอง.  การเผชิญหน้ากับกระแสโลกาภิวัตน์ของธุรกิจไทย: นิตยสารคู่แข่ง (2523-2542)  (อยู่ระหว่างดำเนินการ)

งานวิจัย
วิลลา วิลัยทอง.  การทำแฟชั่นไหมไทย: สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จิม ทอมป์สัน และธุรกิจไหมไทยทศวรรษ 2490-2500  (อยู่ระหว่างดำเนินการ)

งานแปล
วิลลา วิลัยทอง  การแปลบท TheMilitary Ascendant 1932-1957 ในหนังสือ Thailand: A Short History ของ David k. Wyatt  (อยู่ระหว่างการดำเนินการ)2551-2554

Present paper (ไม่มีการตีพิมพ์)
วิลลา วิลัยทอง.  Promoting the American Standard: American Personal Care Products and Advertising in Thailand, 1940s-1970s  presented at Cold War in Asia: the Cultural Dimension. Asia Research Institute (ARI), The National University of Singapore, March 23-26, 2008.

Present paper (ไม่มีการตีพิมพ์)
วิลลา วิลัยทอง.  ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมสุขอนามัยในประเทศไทย ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงทศวรรษที่ 2520  เสนอที่ "เหลียวหลัง แลหน้า: บทบาทของภาษาและการสื่อสารในสังคม" สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์, 5 กันยายน 2551.

*****************************************************************************
"ทัณฑะกาล" ของจิตร ภูมิศักดิ์ มีจำหน่ายแล้วที่ ร้านทีพีนิวส์ ของ "คุณจักรภพ เพ็ญแข" ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว ชั้น 4 สอบถามโทร. 085-5049944  หรือสั่งซื้อทางเว็บไซต์ www.tpnewsbook.com