จักรภพ เพ็ญแข - รายการจุดเปลียน "จัดกระบวนทัพประชาชน" 27 มีนาคม 2557
วันพุธที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2557
วารสาร "ฟ้าเดียวกัน" ฉบับล่าสุดวางแผงแล้ว
การเมือง "คนดี"
ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่การรัฐประหาร 3 ครั้งที่เกิดขึ้นในรอบ 23 ปี ได้แก่ รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นั้น เป็นการรัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยมีข้ออ้างร่วมกันประการหนึ่งคือปัญหาคอรัปชั่นของนักการเมือง ด้วยข้อกล่าวหาตั้งแต่เรื่องบุฟเฟ่คาบิเนต โคตรโกง มาจนถึงโกงทั้งโคตรตามลำดับ
ปัญหาคอร์รัปชั่นของนักการเมืองสอดรับกับสภาพแวดล้อมทางการเมืองแบบใหม่ตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ที่ฐานอำนาจทางการเมืองค่อยๆ เคลื่อนเข้าสู่ระบบรัฐสภา ซึ่งก่อนหน้านั้นมีการเลือกตั้งในแบบประชาธิปไตยครึ่งใบมาสู่ประชาธิปไตยเต็มใบอย่างต่อเนื่อง (พ.ศ. 2522, 2526, 2529, และ 2531) โดยไม่มีการรัฐประหาร (ที่สำเร็จ) สวนทางกับ “ขาลง” ของกองทัพที่เคยมีบทบาทในการแทรกแซงการเมืองโดยตรง
ในการรัฐประหาร 3 ครั้งหลังสุด ครั้งแรกจบลงด้วยความบอบช้ำของกองทัพจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ทหารต้องกลับเข้ากรมกองไปพักใหญ่ ส่วนรัฐประหาร 2 ครั้งหลัง กองทัพเป็นแค่ผู้มา “ปิดเกม” ที่พันธมิตร “ภาคประชาชน” นอกสภาได้ปูทางไว้ให้แล้วก่อนหน้า
เหตุผลในการรับรองการรัฐประหารนั้นพุ่งเป้าไปยังนักการเมือง การเลือกตั้ง และประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงที่เป็น “เหยื่อ” โดยตรง กล่าวคือ
เหตุที่ต้องรัฐประหาร ก็เพราะนักการเมืองคอร์รัปชั่น
เหตุที่นักการเมืองคอร์รัปชั่น ก็เพราะต้องถอนทุนคืนจากการซื้อเสียงเลือกตั้ง
เหตุที่มีการซื้อเสียงเลือกตั้ง ก็เพราะมีคนไม่ดี ไม่มีศีลธรรม และไม่มีความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้อง
ไม่ว่าเหตุผลอันแท้จริงในการก่อรัฐประหารจะเป็นเช่นไร แต่ในทางสาธารณะ หลังการรัฐประหารทุกครั้งก็จะมีความพยายามในการออกแบบระบบการเมืองเสียใหม่ เพื่อแก้ปัญหาของการเมืองแบบเลือกตั้งดังกล่าว ทว่าสุดท้ายกลับ “เสียของ” การเมืองไทยไม่ได้เป็นไปอย่างที่ “คนดี” ทั้งหลายต้องการเสียที แล้วถึงจุดหนึ่งการรัฐประหารก็จึงวนย้อนกลับมาอีก พร้อมกับเริ่มต้น “การปฏิรูป” ครั้งใหม่ภายใต้การชี้นำ “คนดี” ที่เปี่ยมไปด้วยจิตสาธารณะและมีศีลธรรมในระดับ “เหนือ (นัก) การเมือง”
ในบทความ “คำสัญญาของความปรารถนา : การเมืองว่าด้วยเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพกับวาทกรรมของศีลธรรมในช่วง 2490-2550” ทวีศักดิ์ เผือกสมได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การรัฐประหารโค่นล้มทักษิณ ชินวัตรเมื่อปี 2549 เกิดขึ้นในบริบทของการเรียกร้องหา “แบบแผนทางศีลธรรม” ให้แก่มวลชนและผู้นำทางการเมืองที่พวกเขาเลือกมา
เราอาจจะเข้าใจฐานการร้องหาแบบแผนทางศีลธรรมดังกล่าว และอำนาจทางการเมืองของการมีศีลธรรม ได้โดยการน้อมนำพระบรมราโชวาทอันทรงพลังมารับใส่เกล้าใส่กระหม่อมไว้ อันมีความตอนหนึ่งว่า
ในบ้านเมืองนั้นมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้
ฉะนั้น ถึงที่สุด “การเมืองคนดี” จึงสมควรต้องอยู่ เหนือ การเมืองที่ดีๆ ชั่วๆ ของมวลชน ซึ่งจำต้องได้รับ “การปรับทัศนคติ” เสียใหม่เป็นระยะๆ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพของสังคมไทย
***************************************************************************
หมายเหตุบรรณาธิการ :
บรรณาธิการมีเรื่องที่จะต้องเรียนผู้อ่านทุกท่านว่า สำหรับ ฟ้าเดียวกัน ฉบับนี้เราจำเป็นต้องขออนุญาตทำเป็นฉบับควบ กล่าวคือเป็นเล่มปีที่ 12 ฉบับที่ 2-3 (พฤษภาคม-ธันวาคม 2557) ซึ่งมีความหนาและราคามากกว่าปกติ ส่วนวารสารฟ้าเดียวกัน เล่มปีที่ 12 ฉบับที่ 1 (มกราคม-เมษายน 2557) นั้น เนื่องด้วยความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้ไม่สามารถที่จะพิมพ์ออกมาเผยแพร่ได้ อย่างไรก็ตาม สำนักพิมพ์ “ฟ้าเดียวกัน” จะยังคงยืนหยัดดำเนินการจัดพิมพ์หนังสือและวารสารต่อไป แม้ต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดและแรงเสียดทานบางประการ
ท้ายที่สุด “ฟ้าเดียวกัน” ขอขอบคุณอย่างสุดซึ้งสำหรับกำลังใจจากมิตรนักอ่านหลายท่านที่มีมาให้ไม่ขาดสาย และสำหรับการสนับสนุนต่อไปในอนาคต
**************************************************************************
ราคาเล่มละ 300 บาท
ซื้อได้ที่ ร้านหนังสือจักรภพ (ทีพีนิวส์) ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว ชั้น 5
หรือโทร. 085-5049944 (ส่งทางไปรษณีย์ก็ได้จ้า)
หรือสั่งทางเว็บไซด์ www.jakrapob.com
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น