จักรภพ เพ็ญแข - รายการจุดเปลียน "จัดกระบวนทัพประชาชน" 27 มีนาคม 2557

วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

“คำให้การเร้น” ในกฎหมายนิรโทษกรรม : รัฐประหารและสังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 ใน "อ่านย้อนยุค ธันวาคม2557"

“คำให้การเร้น” ในกฎหมายนิรโทษกรรม : รัฐประหารและสังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519

ไทเรล ฮาเบอร์คอร์ณ | เชิญอ่าน

ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 สิ่งที่ในเบื้องแรกเป็นการเรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยคนกลุ่มเล็กๆ ได้ขยายตัวต่อมาอย่างรวดเร็วในกรุงเทพฯและทั่วประเทศจนกลายเป็นการลุกฮือครั้งใหญ่ของนักศึกษาและประชาชนเพื่อต่อต้านระบอบเผด็จการที่ครองอำนาจมาตลอดหลายทศวรรษ นักศึกษาและประชาชนซึ่งได้รับเชื้อไฟจากงานการเมืองวัฒนธรรมต่อต้านเผด็จการมานานปี และได้รับการสนับสนุนจากสถาบันอำนาจในชั่วโมงสุดท้าย ในที่สุดก็สามารถจุดประกายไฟแห่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้สำเร็จ สามทรราช ถนอม กิตติขจร, ณรงค์ กิตติขจร และประภาส จารุเสถียร เดินทางออกจากประเทศ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราวจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง ในช่วงเวลาสามปี นับจากนั้น พื้นที่ทางการเมืองได้ขยายครอบคลุมผู้เล่นต่างๆ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยถูกเบียดให้อยู่ชายขอบ อีกทั้งการชุมนุมประท้วงทางสังคมและวัฒนธรรมก็เบ่งบานขึ้น กรรมกรหยุดงานประท้วงนายทุน ชาวนาเรียกร้องความเป็นธรรมจากเจ้าที่ดิน ปัญญาชนอ่าน เขียน และแปลงานเขียนฝ่ายซ้ายก้าวหน้า นักศึกษาเรียกร้องให้รัฐบาลตอบสนองต่อประชาชน และศิลปินก็ทดลองงานใน
รูปแบบและหัวข้อใหม่ๆ เพื่อรับใช้การต่อสู้ทางการเมือง

แต่การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งชี้ถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมและผลประโยชน์ทางวัตถุ กลับไม่ได้เป็นที่ตอบรับด้วยดีจากทุกฝ่าย นายทุนเจ้าที่ดิน พวกนิยมเจ้า ฝ่ายอนุรักษนิยม และอภิสิทธิ์ชนอื่นๆ มองการเคลื่อนไหวของนักศึกษา กรรมกร ชาวนา และกลุ่มต่างๆ ว่าเป็นอันตรายและจำเป็นต้องถูกปราบปราม จากความกลัวในตอนแรกกลายมาเป็นความตื่นตระหนกอย่างรุนแรง ฝ่ายขวาไม่เคยยอมรับความพ่ายแพ้อย่างจริงจังหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และตั้งแต่ปี 2518 ก็เริ่มมีการข่มขู่ คุกคามทำร้าย และลอบสังหารนักเคลื่อนไหวหัวก้าวหน้าฝ่ายซ้ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อถนอม กิตติขจร กลับเข้าประเทศไทยในวันที่ 19 กันยายน 2519 เพื่ออุปสมบท นักศึกษาตั้งข้อสงสัยว่าน่าจะเป็นการเอาศาสนามาบังหน้า พวกเขาจึงเริ่มชุมนุมประท้วงต่อต้านเพราะเห็นว่านี่เป็นสัญญาณอันตรายของความเป็นไปได้ที่ระบอบเผด็จการจะหวนคืน นักเคลื่อนไหวด้านแรงงานสองคนถูกฆ่าแขวนคอในจังหวัดนครปฐมเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2519 ขณะกำลังติดป้ายประท้วงการ
กลับมาของถนอม นักศึกษาสงสัยว่าเป็นฝีมือของตำรวจ นักศึกษาสี่ถึงห้าพันคนปักหลักชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในวันที่ 4 ตุลาคม พวกเขาแสดงละครล้อเลียนโดยจำลองการแขวนคอดังกล่าวเพื่อวิพากษ์วิจารณ์การใช้ความรุนแรงของตำรวจ


ด้วยแรงกระตุ้นจากความกลัวในยุคสงครามเย็นที่ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเวียดนาม ลาว และกัมพูชากลายเป็นคอมมิวนิสต์ในปี 2518 ฝ่ายขวาทั้งที่อยู่ในรัฐและนอกรัฐ เริ่มต้นวิพากษ์วิจารณ์นักศึกษา และต่อมาก็เรียกร้องอย่างเปิดเผยให้มีการปราบปราม ในวันที่ 5 ตุลาคม ดาวสยาม หนังสือพิมพ์ปีกขวา รายงานว่าการแสดงละครล้อเลียนของนักศึกษาเป็นการแสดงการแขวนคอหุ่นเหมือนเจ้าฟ้าชายและนักศึกษาต้องการล้มล้างสถาบันกษัตริย์ ฝ่ายขวาแจกจ่ายภาพและข่าวดังกล่าวออกไป นักศึกษาถูกกล่าวหาว่าเป็นญวน จีน และ/หรือคอมมิวนิสต์ ซึ่งล้วนหมายถึงการไม่ใช่คนไทยและเป็นภัยคุกคาม ในวันที่ 5 และ 6 ตุลาคม ข้อกล่าวหาเหล่านี้ถูกโหมกระพือหนักขึ้นและวิทยุของทหารก็ปลุกระดมให้คนออกมาต่อต้านนักศึกษาต่างด้าวเหล่านั้นที่ชุมนุมอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การปลุกระดมส่งผลให้เกิดความรุนแรงขึ้นในเวลาตีสองเศษของเช้าวันที่ 6 ตุลาคม นักศึกษาและผู้ชุมนุมที่ปราศจากอาวุธในธรรมศาสตร์ถูกทำร้าย ทุบตี แขวนคอ และเข่นฆ่าโดยฝูงชนจัดตั้งอันบ้าคลั่งที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่รัฐและอันธพาลการเมืองที่จัดตั้งโดยรัฐ เย็นวันนั้นคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ประกาศว่าได้ทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของเสนีย์ ปราโมช คณะปฏิรูปฯรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 46 คน บาดเจ็บ 180 คน และถูกจับกุม 3,059 คนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้ตัวเลขที่ไม่เป็นทางการจะสูงกว่านี้ก็ตาม คนที่ถูกจับคือคนที่รอดชีวิตจากการสังหารหมู่ ไม่มีการจับกุมผู้ลงมือทำร้ายและฆ่านักศึกษาและผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 38 ปีต่อมาบรรดาผู้กระทำผิดยังคงลอยนวล ไม่เคยมีการสืบสวนของรัฐเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนั้น มิพักต้องพูดถึงการหาตัวคนมารับผิดต่อเหตุการณ์ดังกล่าว การลอยนวลเช่นนี้เป็นทั้งเหตุและผลของสิ่งที่ธงชัย วินิจจะกูล เรียกว่าเป็นความเงียบ ความอิหลักอิเหลื่อ และความคลุมเครือเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้สำหรับทั้งผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์และสังคมไทย

ไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่เจ้าหน้าที่รัฐและพลเรือนผู้สมรู้ร่วมคิดจะลอยนวลจากการฆาตกรรมในเหตุการณ์ 6 ตุลา หากดูเพียงแค่ภายในช่วงเวลาสามปีจาก 14 ตุลา 2516 ถึง 6 ตุลา 2519 โดยไม่ต้องนับรวมช่วงก่อนหน้าหรือหลังจากนั้น การไม่ต้องรับผิด (impunity) เป็นบรรทัดฐานที่ได้รับการสถาปนาอย่างมั่นคงสำหรับการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ การไม่ต้องรับผิดในกรณีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีความน่าสนใจตรงที่ร่องรอยและหลักฐานของตัวเหตุการณ์ยังหลงเหลืออยู่ในตัวบทกฎหมายและบันทึกที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการร่างและผ่านกฎหมาย ในช่วงเวลาสองปีหลังเหตุการณ์ มีการประกาศใช้กฎหมายนิรโทษกรรมสองฉบับเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว ฉบับแรกคือ “พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519” ถูกประกาศใช้โดยสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2519 ฉบับที่สอง “พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519” ผ่านออกมาเป็นกฎหมายโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวันที่ 15 กันยายน 2521 กฎหมายทั้งสองฉบับไม่มีการกล่าวถึงเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษา ความตายของนักศึกษา ไม่มีแม้กระทั่งการระบุว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองอย่างเผินๆ กฎหมายฉบับแรกดูเหมือนจะเป็นกฎหมายนิรโทษกรรมธรรมดาสำหรับการก่อการรัฐประหารของคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่สองดูเหมือนจะเป็นกฎหมายนิรโทษกรรมที่ออกมาเพื่อยุติการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้ง 18 คนที่เป็นนักศึกษาและนักเคลื่อนไหว ซึ่งรอดชีวิตจากการสังหารหมู่แต่ถูกดำเนินคดีในข้อหาร้ายแรง เช่น กบฏ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และมีการกระทำเป็นคอมมิวนิสต์ กระนั้นกฎหมายนิรโทษกรรมทั้งสองฉบับก็ครอบคลุมเกินวัตถุประสงค์ตามที่ระบุไว้ นั่นคือ ครอบคลุมไปถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ด้วย ไม่มีการกล่าวโดยตรงถึงเหตุการณ์สังหารหมู่หรือการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่จากการศึกษาเอกสารต่างๆ ของฝ่ายรัฐที่เกี่ยวข้องกับการร่างและผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับแรก ผนวกกับการอ่านแกะรอยเอกสารที่มีอยู่น้อยลงไปอีกเกี่ยวกับกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับที่สองบ่งบอกว่า เหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งในความนึกคิดของผู้ที่อยู่เบื้องหลังกฎหมายทั้งสองฉบับ ดังนั้นแล้ว การไม่เอ่ยถึงในที่นี้จึงกลับสะท้อนอย่างแจ่มชัดถึงการมีอยู่ของสิ่งที่ไม่ถูกเอ่ยถึง กฎหมายฉบับแรกป้องกันไม่ให้ฆาตกรและผู้ก่อการรัฐประหารต้องรับผิดใดๆ ด้วยการใช้ภาษาอย่างระมัดระวัง กฎหมายฉบับที่สองโยนความผิดให้แก่เหยื่อและผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงด้วยการให้อภัยต่อความผิดที่ไม่ได้กระทำ สิ่งที่กฎหมายทั้งสองฉบับมีร่วมกันคือการอ้างว่าเป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อให้บังเกิดความผาสุกแก่ประชาชนชาวไทยและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติ เมื่อผนวกเข้าด้วยกัน กฎหมายสองฉบับนี้บันดาลและบังคับการให้ไม่ต้องมีการรับผิดใดๆต่อการทำรัฐประหารและการสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า

ไม่ถึงหนึ่งปีหลังเหตุการณ์สังหารหมู่และการรัฐประหาร เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน เขียนวิจารณ์บรรดานักสังเกตการณ์ที่มักอ้างว่าประเทศไทยมีการรัฐประหารบ่อยครั้งอยู่แล้วและมองรัฐประหารครั้งนี้ว่าเป็นเรื่องปกติหรือเป็นธรรมดา ทั้งนี้ แอนเดอร์สันกลับมองว่าเหตุการณ์สังหารหมู่และการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ถือเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์เนื่องจากเหตุการณ์นี้ “ไม่ใช่การจู่โจมอย่างปุบปับภายในหมู่ชนชั้นนำ หากแต่เป็นผลรวบยอดของการดำเนินการในระยะเวลาสองปีของฝ่ายขวาในการข่มขู่คุกคาม ทำร้าย และลอบสังหารอย่างเปิดเผย ซึ่งเห็นภาพได้ชัดเจนที่สุดจากการใช้ความรุนแรงของฝูงชนที่มีการจัดแจงเตรียมการไว้ก่อนในเหตุการณ์ 6 ตุลา” ไม่เพียงแต่ความรุนแรงจะกระทำโดยเปิดเผยต่อสาธารณะเท่านั้น แต่ด้วยกระบวนการร่าง อภิปราย และผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมสองฉบับนี้ รวมถึงการลอยนวลจากความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ก็ล้วนกลายเป็นสาธารณะเช่นกัน ขณะที่กฎหมายสองฉบับนี้เป็นตัวอย่างชั้นดีที่แสดงถึงกระบวนการทางกฎหมายที่ละเอียดประณีตและเปิดเผยต่อสาธารณะในการทำให้เกิดการไม่ต้องรับผิด มันยังสะท้อนแง่มุมหนึ่งของรูปแบบทั่วไปของความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองในประเทศไทยอีกด้วย ผู้กระทำผิดที่เป็นฝ่ายรัฐจะไม่ถูกนำตัวมารับผิดต่อการใช้ความรุนแรงต่อพลเมือง และหากพลเมืองหาญกล้าออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม ผลอย่างมากที่สุดที่พวกเขาจะได้ก็คือความไม่เป็นธรรมดังกล่าวจะไม่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากไปกว่าที่พวกเขาเคยประสบมา

บทความนี้เป็นการเสนอความเห็นต่อการกำเนิดขึ้นของการไม่ต้องรับผิดต่อการสังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 และด้วยเหตุที่ผู้เขียนศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งทางกฎหมาย เอกสารสาธารณะและเอกสารเฉพาะเรื่องมาโดยละเอียด จึงจะขอเสนอข้อคิดเห็นในประเด็นเกี่ยวกับบทบาทในภาพกว้างของการไม่ต้องรับผิดในประเทศไทยและการเขียนประวัติศาสตร์ของการไม่ต้องรับผิดไปด้วยในคราวเดียวกัน ทั้งนี้ ในแหล่งเก็บรวบรวมเอกสารของรัฐ (อย่างน้อยก็ในส่วนที่เปิดต่อสาธารณะ) แทบจะไม่มีการให้แหล่งอ้างอิงใดซึ่งผู้ใช้ความรุนแรงได้ระบุไว้ถึงการกระทำของตน รวมถึงความประสงค์ของตนที่จะปิดบังการกระทำเหล่านั้นเพื่อรักษาอำนาจและหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ ในประเทศไทย การอ่านเอกสารในแหล่งเอกสารของรัฐและแหล่งอื่นๆ ที่มีอยู่นั้นจะต้องอาศัยอ่านระหว่างบรรทัด ซึ่งหมายถึงต้องให้ความสนใจกับสิ่งที่ไม่ปรากฏ ช่องว่าง ใจความที่ขัดแย้งกัน และการเผยความออกมาอย่างไม่คาดหมาย ในงานเขียน “The Prose of Counter-Insurgency” รณชิต คุหะ ได้ลำดับไว้ถึงกลยุทธ์ในการอ่านเอกสารอาณานิคมในอินเดียอย่างที่เป็นการอ่านระหว่างบรรทัด เพื่อค้นหาเสียงของชาวบ้านที่เห็นต่างจากรัฐ และหาหลักฐานของความเห็นต่างและการต่อต้านขัดขืน นี่คือสิ่งที่ เจมส์ สก็อตต์ เรียกในเวลาต่อมาว่า “คำให้การเร้น” (“hidden transcript”) ที่ดำรงอยู่กระทั่งในสิ่งที่ดูเหมือนเป็นคำบอกเล่าภายใต้การครอบงำอย่างเบ็ดเสร็จเหนือข้าไพร่ชายขอบ ในกรณีเช่นนี้จำเป็นต้องอาศัยการอ่านระหว่างบรรทัดของเอกสารเหล่านั้นของรัฐ เพื่อค้นหาตัวบทที่ซ่อนเร้น ซึ่งแตกต่างไปจากตัวบทเดิม นั่นคือสิ่งบ่งชี้ถึงการสมรู้ร่วมคิดและการมีส่วนร่วมในความรุนแรง ความวิตกกังวล และการหลบเลี่ยงความรับผิดชอบของรัฐ


*********************************************************************************
www.jakrapob.com

*********************************************************************************
ข่าวสั้นผ่านมือถือสำหรับคนรักประชาธิปไตย เที่ยงตรง แม่นยำ ไม่ใส่ร้าย บิดเบือน ส่งตรงถึงมือถือของท่านทุกวัน ควบคุมโดย คุณจักรภพ เพ็ญแข สมัครง่ายๆ ระบบ AIS เพียงกด *455240415 แล้วโทรออก, ระบบ DTAC กด *45521460141 แล้วโทรออก, ระบบ TRUE เข้าเมนูเขียนข้อความ พิมพ์ r pn กดส่งมาที่เบอร์ 4552404 ราคาเพียง 29 บาท / เดือน พิเศษ สมัครวันนี้ใช้ฟรี 14 วัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น