จักรภพ เพ็ญแข - รายการจุดเปลียน "จัดกระบวนทัพประชาชน" 27 มีนาคม 2557

วันเสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

“ยิ่งลักษณ์”อ่าน“เส้นทางพยัคฆ์ประยุทธ์ จันทร์โอชา”กับแรงบันดาลใจ อยากเขียนหนังสือ


“ยิ่งลักษณ์” ก็อ่าน “เส้นทางพยัคฆ์ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ” กับ แรงบันดาลใจ ที่อยากจะเขียนหนังสือ บันทึกประวัติศาสตร์ ด้วยตัวเอง 

ล่าสุด นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือ "อดีตฯนายกปู" ได้ออกมาเปิดเผย อย่างอารมณ์ดี ในห้วงสถานการณ์การเมือง ณ เวลานี้ ว่า เธอทำอะไรอยู่ ไลฟ์สไตล์เป็นแบบไหน แล้ว ในฐานะคุณแม่ล่ะ น้องไปป์จะปลื้มขนาดไหน หลังมีเวลาดูแลลูกชายสุดรักมากขึ้น


โดยเปิดประเด็นแรก อดีตนายกฯปู ยอมรับว่ากำลังจะผันตัวเป็นนักเขียนมือสมัครเล่น หลังจากที่อ่านหนังสือมาหลายเล่ม ซึ่งล่าสุด ได้อ่าน “เส้นทางพยัคฆ์ ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากทหารเสือ สู่หลังเสือ เปิดแผนปฏิวัติ ซุปเปอร์ ลับลวงพราง” เพราะเป็นบันทึกประวัติศาสตร์และเบื้องหน้าเบื้องหลัง เหตุการณ์ เจ้าตัวเลยเกิดแรงบันดาลใจ อยากที่จะเขียนหนังสือ เองสักเล่มบ้าง เพื่อบันทึกเรื่องราว ของตนเอง ในช่วงที่เป็นนายกรัฐมนตรี 2 ปี 9 เดือน 2 วัน ว่าได้เกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งถือเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ ด้วยเช่นกัน 

“อ่านแล้ว เล่มนี้ก็เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ และมีเบื้องหน้าเบื้องหลังที่น่าสนใจ หลายเรื่องที่ ปูก็ไม่เคยรู้มาก่อน ก็ได้มารู้จากเล่มนี้ ได้รู้จัก ท่าน พล.อ.ประยุทธ์ มากขึ้นด้วย เบื้องหน้าเบื้องหลัง ก่อนจะเกิดการรัฐประหาร อ่านแล้ว ตื่นเต้น น่าสนใจ” อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 28 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เผย 

ประกอบกับ อดีตนายกฯปู มีไอเดียอยู่ว่า ตนเองก็อยากจะเขียนหนังสือ สักเล่มเหมือนกัน แต่รู้สึกว่า มันยาก เพราะที่ผ่านมา คนอื่นเขียนหนังสือเรื่อง ปู มาหลายเล่มกันแล้ว แต่นี่ ปูก็อยากจะเขียนเอง บันทึกเอง บ้าง 

“ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ปู จดจำได้ทั้งหมด ว่าใครทำอะไร ใครพูดอะไร และจะจดจำตลอดไป เพียงแต่เกิดความรู้สึกว่า อยากจะเขียนบันทึกไว้ว่า มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง มุมมอง ความรู้สึกต่างๆ รวมถึง สิ่งดีๆ ความรู้สึกดีๆที่ประชาชนมีให้กับยิ่งลักษณ์ และ สิ่งที่ยิ่งลักษณ์ ได้เจอะเจอ” อดีตนายกฯปู เผย

แต่เพราะไม่เคยมีประสบการณ์ในเรื่องการเขียนหนังสือมาเลยรู้สึกว่ามันยากแน่เลย ไม่รู้ว่าจะต้องวางพล็อตเรื่องยังไง เริ่มต้นยังไง ดำเนินเรื่องยังไง จนจบ จึงได้พูดคุยสอบถามกับบรรดานักเขียน เพื่อขอคำแนะนำเทคนิคต่างๆในการเขียน ที่ทำให้ได้แรงบันดาลใจว่า อยากจะเขียนบันทึกต่างๆ ในช่วงที่เรามีเวลาว่างในช่วงนี้ เอาไว้ พอได้รับคำแนะนำ ก็คิดว่าน่าจะพอทำได้ ยิ่งเมื่อได้ อ่าน หนังสือ เส้นทางพยัคฆ์ ประยุทธ์ จันทร์โอชาฯ” ของ เล็ก วาสนา นาน่วม นักข่าวสายทหาร บางกอกโพสต์ ด้วยแล้วก็ยิ่งทำให้อยากเขียนหนังสือบ้าง เพราะถือเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ ในอีกด้านหนึ่ง ในฐานะที่เป็นตัวละครในประวัติศาสตร์นี่ด้วยคนหนึ่ง 

“คงจะค่อยๆหัดเขียน หัดบันทึกไปเรื่อยๆ แต่ยังไม่ได้คิดว่า จะพิมพ์เป็นเล่ม หรือเปล่า หรือจะพิมพ์ออกมาเป็นเล่มเมื่อไหร่ แต่คงไม่ใช่ในห้วงเวลานี้หรอกค่ะ ก็เขียนบันทึกเอาไว้ก่อน บางทีก็อาจจะแค่บันทึกเก็บไว้อ่านเท่านั้น” อดีตนายกฯปู เผย 

เนื่องจากในห้วงเวลานี้ ก็ต้องอยู่นิ่งๆ ตามที่ คสช.ขอความร่วมมือไว้ ก็ได้ทำหน้าที่ของคุณแม่ เต็มตัว ชดเชยเวลาให้ น้องไปป์ มาดูแลลูกชายเต็มที่ มาเป็นแม่บ้านเต็มตัว แต่จะเป็น “แม่บ้านสมองซื้อ” คือ เพราะ ปูทำอาหารไม่เก่ง ก็ได้แค่คิดเมนู ว่า น้องไปป์ อยากทานอะไร เราอยากทานอะไร ก็คิดว่า วันหนึ่งๆ จะทำอะไร ก็ไปซื้อๆ แล้วก็มาให้แม่ครัวทำให้ แต่เมนู ที่ อดีตนายกฯ ปู ภูมิใจ และทำได้อร่อย ก็คือ เมนู ไก่ทอด ที่ต้องมีเทคนิค เคล็ดลับ นิดหน่อย ในเรื่องการเตรียมน่องไก่ ก่อนที่จะทอดลงกระทะ แต่อร่อยจน หลายคนการันตี

สนใจสั่งซื้อหนังสือได้ที่ ร้านทีพีนิวส์ อิมพีเรียลลาดพร้าว ชั้น 5 โทร. 085-5049944

ราคาเล่มละ 295.-

***************************************************************************
เว็บขายหนังสือออนไลน์ : www.jakrapob.com หรือโทร. 085-5049944 ชั้น 5 อิมพีเรียล ลาดพร้าว
เชิญสมัคร SMS - TPNews ข่าวการเมือง-แนวร่วมประชาธิปไตย เที่ยงตรง ไม่บิดเบือน ส่งเข้ามือถือทุกวัน ทุกระบบ เพียงเดือนละ 29.- 
วิธีสมัคร : 
ระบบ AIS เพียงกด *455240415 แล้วโทรออก
ระบบ DTAC กด *45521460141 แล้วโทรออก
ระบบ TRUE เข้าเมนูเขียนข้อความ พิมพ์ pn ส่งมาที่เบอร์ 4552146 พิเศษ สำหรับผู้สมัครใหม่ สมัครวันนี้ รับข่าวฟรี 14 วัน

วันพุธที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2557

วารสาร "ฟ้าเดียวกัน" ฉบับล่าสุดวางแผงแล้ว



การเมือง "คนดี"

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่การรัฐประหาร 3 ครั้งที่เกิดขึ้นในรอบ 23 ปี ได้แก่ รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นั้น เป็นการรัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยมีข้ออ้างร่วมกันประการหนึ่งคือปัญหาคอรัปชั่นของนักการเมือง ด้วยข้อกล่าวหาตั้งแต่เรื่องบุฟเฟ่คาบิเนต โคตรโกง มาจนถึงโกงทั้งโคตรตามลำดับ

ปัญหาคอร์รัปชั่นของนักการเมืองสอดรับกับสภาพแวดล้อมทางการเมืองแบบใหม่ตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ที่ฐานอำนาจทางการเมืองค่อยๆ เคลื่อนเข้าสู่ระบบรัฐสภา ซึ่งก่อนหน้านั้นมีการเลือกตั้งในแบบประชาธิปไตยครึ่งใบมาสู่ประชาธิปไตยเต็มใบอย่างต่อเนื่อง (พ.ศ. 2522, 2526, 2529, และ 2531) โดยไม่มีการรัฐประหาร (ที่สำเร็จ) สวนทางกับ “ขาลง” ของกองทัพที่เคยมีบทบาทในการแทรกแซงการเมืองโดยตรง

ในการรัฐประหาร 3 ครั้งหลังสุด ครั้งแรกจบลงด้วยความบอบช้ำของกองทัพจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ทหารต้องกลับเข้ากรมกองไปพักใหญ่ ส่วนรัฐประหาร 2 ครั้งหลัง กองทัพเป็นแค่ผู้มา “ปิดเกม” ที่พันธมิตร “ภาคประชาชน” นอกสภาได้ปูทางไว้ให้แล้วก่อนหน้า

เหตุผลในการรับรองการรัฐประหารนั้นพุ่งเป้าไปยังนักการเมือง การเลือกตั้ง และประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงที่เป็น “เหยื่อ” โดยตรง กล่าวคือ

เหตุที่ต้องรัฐประหาร ก็เพราะนักการเมืองคอร์รัปชั่น

เหตุที่นักการเมืองคอร์รัปชั่น ก็เพราะต้องถอนทุนคืนจากการซื้อเสียงเลือกตั้ง

เหตุที่มีการซื้อเสียงเลือกตั้ง ก็เพราะมีคนไม่ดี ไม่มีศีลธรรม และไม่มีความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้อง

ไม่ว่าเหตุผลอันแท้จริงในการก่อรัฐประหารจะเป็นเช่นไร แต่ในทางสาธารณะ หลังการรัฐประหารทุกครั้งก็จะมีความพยายามในการออกแบบระบบการเมืองเสียใหม่ เพื่อแก้ปัญหาของการเมืองแบบเลือกตั้งดังกล่าว ทว่าสุดท้ายกลับ “เสียของ” การเมืองไทยไม่ได้เป็นไปอย่างที่ “คนดี” ทั้งหลายต้องการเสียที แล้วถึงจุดหนึ่งการรัฐประหารก็จึงวนย้อนกลับมาอีก พร้อมกับเริ่มต้น “การปฏิรูป” ครั้งใหม่ภายใต้การชี้นำ “คนดี” ที่เปี่ยมไปด้วยจิตสาธารณะและมีศีลธรรมในระดับ “เหนือ (นัก) การเมือง”

ในบทความ “คำสัญญาของความปรารถนา : การเมืองว่าด้วยเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพกับวาทกรรมของศีลธรรมในช่วง 2490-2550” ทวีศักดิ์ เผือกสมได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การรัฐประหารโค่นล้มทักษิณ ชินวัตรเมื่อปี 2549 เกิดขึ้นในบริบทของการเรียกร้องหา “แบบแผนทางศีลธรรม” ให้แก่มวลชนและผู้นำทางการเมืองที่พวกเขาเลือกมา

เราอาจจะเข้าใจฐานการร้องหาแบบแผนทางศีลธรรมดังกล่าว และอำนาจทางการเมืองของการมีศีลธรรม ได้โดยการน้อมนำพระบรมราโชวาทอันทรงพลังมารับใส่เกล้าใส่กระหม่อมไว้ อันมีความตอนหนึ่งว่า

ในบ้านเมืองนั้นมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้

ฉะนั้น ถึงที่สุด “การเมืองคนดี” จึงสมควรต้องอยู่ เหนือ การเมืองที่ดีๆ ชั่วๆ ของมวลชน ซึ่งจำต้องได้รับ “การปรับทัศนคติ” เสียใหม่เป็นระยะๆ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพของสังคมไทย

***************************************************************************

หมายเหตุบรรณาธิการ :

บรรณาธิการมีเรื่องที่จะต้องเรียนผู้อ่านทุกท่านว่า สำหรับ ฟ้าเดียวกัน ฉบับนี้เราจำเป็นต้องขออนุญาตทำเป็นฉบับควบ กล่าวคือเป็นเล่มปีที่ 12 ฉบับที่ 2-3 (พฤษภาคม-ธันวาคม 2557) ซึ่งมีความหนาและราคามากกว่าปกติ ส่วนวารสารฟ้าเดียวกัน เล่มปีที่ 12 ฉบับที่ 1 (มกราคม-เมษายน 2557) นั้น เนื่องด้วยความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้ไม่สามารถที่จะพิมพ์ออกมาเผยแพร่ได้ อย่างไรก็ตาม สำนักพิมพ์ “ฟ้าเดียวกัน” จะยังคงยืนหยัดดำเนินการจัดพิมพ์หนังสือและวารสารต่อไป แม้ต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดและแรงเสียดทานบางประการ

ท้ายที่สุด “ฟ้าเดียวกัน” ขอขอบคุณอย่างสุดซึ้งสำหรับกำลังใจจากมิตรนักอ่านหลายท่านที่มีมาให้ไม่ขาดสาย และสำหรับการสนับสนุนต่อไปในอนาคต

**************************************************************************
ราคาเล่มละ 300 บาท
ซื้อได้ที่ ร้านหนังสือจักรภพ (ทีพีนิวส์) ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว ชั้น 5
หรือโทร. 085-5049944 (ส่งทางไปรษณีย์ก็ได้จ้า)
หรือสั่งทางเว็บไซด์ www.jakrapob.com


วันอังคารที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ด่วน! "พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย" อดีตรองประธานสภาฯ เสียชีวิตแล้ว หลังรักษาอาการป่วยที่ ตปท.



"ข่าวด่วน เมื่อเวลา 22.30 น. วันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม 2557 ได้รับแจ้งจากคุณวันชัย เจริญนนทสิทธิ์ อดีต ส.ส.เมืองนนท์ ว่า พ.อ.ดร.อภิวันท์ วิริยะชัย อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย และอดีตรองประธานสภาฯ ได้เสียชีวิตแล้วที่ต่างประเทศ กำลังเตรียมนำศพกลับไทย"

ขณะเดียวกัน อินสตาแกรม oak_pp ของนายพานทองแท้ ชินวัตร ก็ได้ขึ้นรูป พ.อ.อภิวันท์ พร้อมข้อความที่ระบุว่า "6 ตุลา ... R.I.P. ครับอา"

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวแจ้งว่า "พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย" อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ถึงแก่กรรมลงอย่างสงบ หลังเข้ารับการรักษาอาการปอดติดเชื้อที่ประเทศฟิลิปปินส์มาเป็นเวลานาน ขณะที่ญาติเตรียมนำศพกลับมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่วัดบางไผ่ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี

สำหรับ พ.อ.อภิวันท์ สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนวัดนวลนรดิศ จากนั้น เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ก่อนจะได้รับทุนกองทัพบกไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขา วิศวกรรมโยธา ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งอิลลินอยส์ และได้รับทุนจากทางมหาวิทยาลัยที่สหรัฐ ให้ศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกจากสถาบันเดียวกัน

พ.อ.อภิวันท์ เริ่มเข้าทำงานการเมือง ด้วยการเป็น ส.ส.นนทบุรี เมื่อปี พ.ศ.2539 สังกัดพรรคความหวังใหม่ ต่อมา ได้ย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย ตามลำดับ

นอกจากนี้ พ.อ.อภิวันท์ ยังถือเป็นแกนนำคนหนึ่งของกลุ่มนปก. และนปช.

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ศาลอาญาได้อนุมัติออกหมายจับ อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎรผู้นี้ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากกรณีการขึ้นปราศรัยบนเวทีนปช. อย่างไรก็ตาม พ.อ.อภิวันท์ ได้เดินทางไปพำนักยังต่างประเทศ จนกระทั่งเสียชีวิตในวันที่ 6 ตุลาคม 2557


ต่อมา เมื่อเช้าวันอังคารที่ 7 ตุลาคม "คุณจักรภพ เพ็ญแข" เพื่อนร่วมอุดมการณ์ รุ่นน้องที่รักท่านอภิวันท์มากคนหนึ่ง ได้ส่งกลอนมาร่วมไว้อาลัยด้วย...ดังข้อความข้างล่างนี้


จักรภพ เพ็ญแข กราบ “พี่เปีย” (วันอังคารที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๗)


ดร. อภิวันท์ วิริยะชัย

จากไปอย่างตระหนักในศักดิ์ศรี

ความจริง ความงาม และความดี

ปรากฎในตัวพี่ตลอดมา


สงครามครั้งสุดท้ายในชีวิต

เพื่อประดิษฐ์เมืองไทยที่ดีกว่า

กล้ำกลืนยืนหยัดด้วยศรัทธา

เพื่อประชาธิปไตยไม่หลอกลวง


เราจักเดินต่อไปไม่หยุดยั้ง

สู้กำลังอาสัตย์แห่งรัฐหลวง

วิญญาณพี่ที่พึ่งเพียงหนึ่งดวง

สร้างผลพวงพลเมืองเรืองแผ่นดิน.



นอนให้สงบสบายนะครับพี่

จักรภพ เพ็ญแข


**************************************************************************
เว็บไซต์ขายหนังสือออนไลน์ www.jakrapob.com

**************************************************************************
สนับสนุน "จักรภพ" และทีมงาน เชิญสมัคร SMS - TPNews ข่าวการเมือง-แนวร่วมประชาธิปไตย เที่ยงตรง ไม่บิดเบือน ส่งเข้ามือถือทุกวัน ทุกระบบ เพียงเดือนละ 29.-
วิธีสมัคร :
ระบบ AIS เพียงกด *455240415 แล้วโทรออก
ระบบ DTAC กด *45521460141 แล้วโทรออก
ระบบ TRUE เข้าเมนูเขียนข้อความ พิมพ์ r pn ส่งมาที่เบอร์ 4552404
พิเศษ สำหรับผู้สมัครใหม่ สมัครวันนี้ รับข่าวฟรี 14 วัน

วันพฤหัสบดีที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2557

เรื่องเล่าหลังร้านหนังสือ : ชีวิตหลังรัฐประหารของคนเสื้อแดงธรรมดาๆ




เรื่องเล่าหลังร้านหนังสือ: ชีวิตหลังรัฐประหารของคนเสื้อแดงธรรมดาๆ

เรื่องราวของร้านหนังสือเล็กๆ และชีวิตของคนขายหนังสือเสื้อแดงธรรมดาๆ ที่มักมีทหารมาเยี่ยมเยียนตรวจตราเป็นเพื่อนนักอ่านอยู่อย่างสม่ำเสมอ หลังการรัฐประหารครั้งล่าสุด

ณ ร้านหนังสือเล็กๆ แห่งหนึ่ง ที่เคยเป็นที่ชุมนุมของคนเสื้อแดงและเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาที่หลากหลาย เพราะมีขายตั้งแต่หนังสือธรรมะ ตำราทำอาหาร หนังสือไม้ดอกไม้ประดับ ตลอดไปจนถึงหนังสือแนวประวัติศาสตร์ - การเมือง ทั้งในอดีตและร่วมสมัย ทั้งที่เกี่ยวกับอัตชีวประวัติของแกนนำ เส้นทางการต่อสู้ของคนเสื้อแดง ไปจนถึงนิตยสารการเมืองเชิงวิพากษ์อย่าง “ฟ้าเดียวกัน” และ “อ่าน”

บัดนี้ รายได้หลักของร้านกลับได้มาจากการขายอาหารประเภทกาแฟ ไอศกรีม ปาท่องโก๋ สินค้าเบ็ดเตล็ดเล็กๆ น้อยๆ ลูกค้าที่ยังแวะเวียนมาก็มีแต่หน้าเดิมๆ จำนวน 10 - 20 คน พวกเขาจับกลุ่มเล็กๆ กันเองบริเวณหน้าร้านเพื่อพบปะเพื่อนเก่า พูดคุยและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เหนือสิ่งอื่นใด พวกเขาเริ่มปรับตัวและทำความคุ้นเคยกับการมาเยี่ยมเยือนของเหล่าทหารอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน กระนั้น พวกเขาก็ยังประคับประคองรักษาพื้นที่เสรีภาพอันน้อยนิดที่ยังคงเหลือของพวกเขาเท่าที่คนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งจะทำได้ 


“ป้าแต๋ว” มวลชนคนเสื้อแดงที่มาช่วยร้านขายหนังสือเป็นประจำ และพี่น้องเสื้อแดงที่แวะเวียนมาอุดหนุนเกื้อกูลให้ธุรกิจร้านเล็กๆ นี้อยู่รอดต่อไปได้ เล่าว่าหลังรัฐประหาร ทหารก็เข้ามาเยี่ยมเยียนตรวจตราที่ร้านและบริเวณโดยรอบอยู่เสมอ ในช่วงสัปดาห์แรกหลังรัฐประหาร ศูนย์การเรียนรู้คอมพิวเตอร์ข้างๆ ถูกบุกค้นและยึดฮาร์ดแวร์ไปกว่า 30 เครื่อง “ป้าแต๋ว” พูดด้วยความขุ่นเคืองว่า “ที่นั่นเขาเอาไว้สอนคนแก่ๆ ที่ใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็น ยึดของเขาไปทำไม เขาเอาไว้สอนให้คนฉลาดขึ้น” จวบจนทุกวันนี้ ของที่ถูกยึดไปก็ยังไม่ได้คืนมา

สองสัปดาห์ผ่านไป การตรวจตราของทหารก็แผ่ขยายมายังร้านค้าและสำนักงานของคนเสื้อแดงแทบทั้งหมด “พี่นุช” ผู้จัดการร้านหนังสือร่างเล็กเล่าพร้อมรอยยิ้มขำๆ ว่า “มีทหารในเครื่องแบบติดอาวุธเข้ามาในร้าน ถ่ายรูปร้าน รูปพี่เขา รูปหนังสือที่วางขายเกือบทุกเล่ม พร้อมสอบถามชื่อเจ้าของร้าน “พี่นุช” ก็ให้ความร่วมมือพูดคุยเป็นอย่างดี เพราะเชื่อว่าหนังสือที่ขายนั้นล้วนแต่ถูกกฎหมาย เป็นหนังสือที่ร้านหนังสือชื่อดังอื่นๆ ก็วางขายบนแผงแบบเดียวกัน จะผิดไปจากร้านอื่นก็ตรงที่เป็นร้านหนังสือของคนเสื้อแดง

หลังเก็บข้อมูลและถ่ายภาพไปแล้ว เจ้าหน้าที่ทหารก็เหลือบไปเห็นภาพโปสเตอร์ตั้งพื้นขนาดเท่าคนจริงซึ่งเป็นรูปของนักการเมืองและแกนนำคนเสื้อแดงชื่อดังคนหนึ่งตั้งอยู่บริเวณหน้าร้าน พวกเขาประกาศทันทีว่าจะขอยึดรูปนั้น สำหรับพวกทหารแล้ว บุคคลผู้นี้คงถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงเพราะขัดคำสั่งไม่ไปรายงานตัวกับ คสช. มีหมายจับ และปัจจุบันยังอาศัยอยู่ต่างประเทศ แต่สำหรับเหล่าลุงๆ ป้าๆ บุคคลผู้นี้เป็นคนที่พวกเขาให้ความรักและนับถือ “ป้าแต๋ว” หญิงใจกล้าพูดจาฉะฉานเข้าไปดึงดันไม่ให้ทหารยึดเอารูปกระดาษนั้นไป โดยรีบเก็บเข้าไปไว้ในร้านอย่างรวดเร็ว ถึงแม้จะไม่เกิดการปะทะรุนแรงและสุดท้ายของก็ไม่ถูกยึดไป แต่ทหารก็กำชับว่าห้ามนำรูปบุคคลผู้นั้นออกมาตั้งหน้าร้านอีกเด็ดขาด เหล่าลุงๆ ป้าๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์บางคนให้ความเห็นว่า “ก็น่าจะให้พวกเขาแบกรูปไป คงดูตลกพิลึก”






นับตั้งแต่วันนั้น ทหาร 4 - 5 นายจะแวะเวียนมาที่ร้านอยู่เสมอ เฉลี่ยสัปดาห์ละ 3 - 4 ครั้ง สี่คนเป็นทหารเกณฑ์อายุ 20 ต้นๆ บางครั้งมาพร้อมกับหัวหน้า การมาเยือนครั้งต่อๆ มา ทหารไม่ได้มาพร้อมอาวุธครบมือแล้ว น่าจะเป็นเพราะโดนป้าๆ ต่อว่าเรื่องอาวุธ เจ้าหน้าที่ทหารจะถามคำถามซ้ำๆ ว่าใครเป็นเจ้าของร้าน ขอนามบัตร มาถ่ายรูปสิ่งของเดิมๆ คนเดิมๆ “พี่นุช” รำพึงว่า “ไม่รู้จะถ่ายรูปซ้ำๆ ไปทำไมทุกวัน” โดยภาพรวมเจ้าหน้าที่ที่มาที่นั่นพูดจาสุภาพ ไม่มีการข่มขู่ คนเสื้อแดงส่วนใหญ่ที่นั่งล้อมวงกันบริเวณนั้นก็มักจะเลี่ยงไม่มาใกล้ๆ เวลาที่ทหารมาตรวจตรา จะมีก็เพียงป้าไม่กี่คนที่กล้าตั้งคำถามกับการกระทำของทหาร “ป้าแต๋ว” ถามผู้บังคับบัญชาอย่างตรงไปตรงมาว่า “ไปไล่ล่าจับคนเสื้อแดงเขาทำไม!” “อยากขึ้นเป็นนายกฯ ก็ไปเลือกตั้งเถอะ” ฝ่ายทหารก็มิได้ตอบโต้อย่างรุนแรง ตรงกันข้าม เขามักพูดซ้ำๆ อย่างนอบน้อมให้เห็นใจว่า ตัวเขาเองก็เป็นเพียงประชาชนคนหนึ่งแต่ต้องทำตามคำสั่งเจ้านาย เมื่อโดนคนเสื้อแดงตัดพ้อเรื่องการรุกรานยึดทรัพย์สินร้านค้าบริเวณนี้ เขาก็จะตอบแบบเลี่ยงๆ ว่าฝ่ายเขาไม่ได้รับผิดชอบการกระทำดังกล่าว หากแต่เป็นทหารจากหน่วยอื่น เป็นคนละกลุ่มกัน หรือไม่ก็จะอธิบายปัดความรับผิดชอบไปว่าเจ้าของสถานที่เขาทำเองโดยสมัครใจ 

การปรากฏตัวของทหารกลายเป็นความเคยชินมากขึ้นเรื่อยๆ ในวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา วันเกิดอดีตนายกฯ “ทักษิณ ชินวัตร” คนเสื้อแดงนำรูป “อดีตนายกฯ ทักษิณ และอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์” มาติดตกแต่งตามร้านต่างๆ ห้างร้านที่เคยเงียบเหงากลับเต็มไปด้วยคนเสื้อแดงจำนวนมาก บรรยากาศวันนั้นดูคึกคักผิดจากวันอื่นๆ มีรถฮัมวี่มาจอดบริเวณที่จอดรถมากผิดปกติ มีทหารชั้นประทวนนั่งประจำการอยู่หน้าร้านค้า แต่ก็อยู่อย่างเงียบๆ ท่ามกลางคนเสื้อแดงที่เดินกันขวักไขว่ หรือนั่งล้อมวงคุยสังสรรค์กัน ส่วนหัวหน้าทหารก็เลือกที่จะใส่ชุดนอกเครื่องแบบกลมกลืนไปกับคนทั่วไป 




ถึงจะอยู่ในชุดนอกเครื่องแบบ “ป้าแต๋ว” ก็จำนายทหารผู้ใหญ่คนนั้นได้ดี ป้าไม่รีรอที่จะไปต่อว่าเรื่องการปลดรูปอดีตนายกฯ ทั้ง 2 คน พร้อมเรียกเพื่อนๆ อีก 3 - 4 คนมารับฟังด้วย เมื่อป้าคนอื่นๆ ทราบว่าชายในชุดลำลองผู้นี้คือ “ทหาร” ต่างก็ไม่ลังเลที่จะแสดงความไม่พอใจของตนออกมาอย่างชัดเจน บ้างก็เบนหน้าไปอย่างเงียบๆ พร้อมพูดเบาๆ ว่า “เกลียดทหาร” บ้างก็จี้ถามนายทหารผู้นั้นว่า “นี่จะมาล้างสมองพวกเราหรือ” นายทหารผู้นั้นได้แต่ยิ้มและรับฟังคำตัดพ้อของเหล่าป้าอย่างสุภาพ “ป้าเกลียดทหารแต่รักผมสักคนได้ไหม?” เขาหัวเราะแห้งๆ งานฉลองในวันนั้นยังดำเนินไปจนถึงค่ำ ถึงแม้รูปจะถูกปลดลงก็มีการนำรูปใหม่เข้าไปตั้งบริเวณด้านในแทน และมีคนเสื้อแดงต่อแถวถ่ายรูปกันอย่างไม่ขาดสาย

อย่างไรก็ดี หลังวันเกิด “อดีตนายกฯ ทักษิณ” มีการสับเปลี่ยนผลัดเวรให้ทหารเกณฑ์อย่างน้อย 4 คนมาประจำในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง ทหารได้เข้าไปกินนอนอาศัยที่สำนักงานแห่งหนึ่งของคนเสื้อแดง “พี่นุช” กล่าวว่า “ตั้งแต่เปิดร้านยันปิดร้าน เขาก็อยู่กับเรา คอยเดินสำรวจเป็นระยะๆ แถมยังพูดด้วยความเห็นใจว่า “สงสารทหารเด็กๆ พวกนี้ ที่ต้องตื่นแต่เช้าและทำงานที่น่าเบื่อซ้ำๆ กันทุกวัน เพราะทหารเหล่านี้มักจะบ่นว่าต้องมา ต้องทำ เพราะ “นาย” สั่ง

ถึงแม้ว่าจะไม่เคยเกิดเหตุการณ์ข่มขู่ กระทำการรุนแรงใดๆ แต่เราปฏิเสธได้หรือว่า มาตรการค้นร้าน ถ่ายรูป ปลดรูปอยู่เป็นนิจ ซ้ำร้ายยังประจำการอยู่บริเวณดังกล่าว 24 ชั่วโมง เป็นสิ่งที่ปกติหรือสร้างบรรยากาศแห่งการปรองดอง ไม่เพียงเท่านั้นเว็บไซต์ขายหนังสือของร้านก็ยังถูกไอซีทีบล็อก “พี่นุช” ตัดพ้อว่า “เว็บไซต์ของร้านหนังสือไม่ได้มีเนื้อหาหรือการพูดคุยตอบโต้ทางการเมืองเลย มีแต่รายชื่อหนังสือที่วางขาย แม้กระทั่งช่องทางเล็กๆ ในการเรียกลูกค้าและหารายได้ทางอินเทอร์เน็ตก็ยังถูกทางการปิดกั้น โดยให้เหตุผลว่า ‘ยุยงปลุกระดม ต้านรัฐประหาร!!’ ” 




หลังรัฐประหาร คนเสื้อแดงไม่เหลือทั้งพื้นที่การชุมนุม พื้นที่เสรีภาพในการแสดงสัญลักษณ์ที่ตนชื่นชอบ ไม่มีโอกาสได้พบปะหรือฟังแกนนำพูดคุย เหลือไว้ก็เพียงแต่พื้นที่พบเจอพูดคุยกันที่ร้านหนังสือแห่งนี้ที่พวกเขาคุ้นเคย พวกเขาไม่เข้าใจว่า ทำไมคนเสื้อแดงจึงถูกจับจ้องไม่คลาดสายตาเยี่ยงอาชญากรร้ายแรงเช่นนี้

“พอเขาทราบว่าทหารมาแทบทุกวัน ลูกค้าเขาก็ไม่กล้ามา กลัวถูกค้นบ้าง กลัวถูกถ่ายรูปบ้าง” “พี่นุช” บอกว่าจำนวนลูกค้าลดฮวบฮาบอย่างน่าใจหาย เฉกเช่นร้านค้าอื่นๆ ร้านขายหนังสือของ “พี่นุช” ประสบปัญหาธุรกิจซบเซา วันๆ หนึ่งขายหนังสือได้เกือบจะไม่ถึงพันบาท จึงต้องหาทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าปรับเสริมร้านหนังสือให้มีสินค้าอื่นๆ บริการด้วย เช่น ขายกาแฟ ไอศกรีม ขนมขบเคี้ยว ฯลฯ ความหวังที่ส่องแสงรำไรในช่วงเวลาที่น่าหดหู่สำหรับคนกลุ่มหนึ่งก็คือ ร้านหนังสือเล็กๆ แห่งนี้ได้กลับกลายเป็นพื้นที่ปลอบประโลมใจคนเสื้อแดงธรรมดาๆ ที่อยากพบปะพูดคุย ระบายความในใจที่อัดอั้นกับเพื่อนๆ เพราะพวกเขาไม่รู้จะไปที่ไหน ไปคุยกับใคร?

ในขณะที่ร้านค้าบางร้านซึ่งขายเสื้อผ้า ซีดี วีซีดี ถึงกับต้องปิดกิจการไปอย่างไม่มีกำหนด เพราะไม่มีใครรับประกันได้ว่าสินค้าที่เคยซื้อขายกันอย่างแพร่หลายในอดีต บัดนี้จะกลายเป็นของผิดกฎหมายหรือขัดต่อคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือไม่ โชคยังดีที่ร้านของ “พี่นุช” ยังดำเนินกิจการต่อไปได้ตามอัตภาพ 


เรื่องราวสั้นๆ ที่ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นเรื่องนี้ไม่ได้มุ่งนำเสนอการคุกคาม ข่มเหงรังแกของทหารต่อประชาชน หากแต่เป็นเรื่องราวแห่งความหวัง การปฏิเสธที่จะเป็นเพียงแค่เหยื่อที่ไร้ทางสู้ของคนธรรมดา เมื่อต้องเผชิญหน้ากับอำนาจแห่งการบังคับ จับจ้อง และควบคุมอย่างเคร่งครัด

คนเสื้อแดงทั่วๆ ไปต่างมีวิธีรับมือกับวิถีชีวิตหลังรัฐประหารที่แตกต่างกันไป บ้างก็หลบเลี่ยงไม่มาเจอหน้า บ้างก็ตัดพ้อ บ้างก็ต่อว่าท้าทายซึ่งๆ หน้า หากว่านี่เป็นการกระทำของแกนนำหรือนักกิจกรรมที่มีชื่อเสียง ผู้ปกครองอาจเลือกใช้ไม้แข็ง กักกันตัวเพื่อปรับทัศนคติ ทว่าพวกเขารู้ดีว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะบังคับขืนใจมวลชนที่แค้นเคืองทุกคนได้ วงล้อมสนทนาเล็กๆ จึงไม่อาจจะถูกขจัดให้อันตรธานไปจากสังคมอย่างสิ้นซาก เหนือสิ่งอื่นใด ไม่มีอะไรมาเปลี่ยนความคิดความเชื่อหรืออุดมการณ์ของพวกเขา มิพักต้องพูดถึงการคืนความสุขให้แก่คนเหล่านี้

ที่มา : เว็บไซต์ประชาไทออนไลน์ :http://prachatai.com/journal/2014/08/55204

***********************************************************************************************
เว็บไซต์ขายหนังสือออนไลน์ www.jakrapob.com

***********************************************************************************************
สนับสนุน "จักรภพ" และทีมงาน เชิญสมัคร SMS - TPNews ข่าวการเมือง-แนวร่วมประชาธิปไตย เที่ยงตรง ไม่บิดเบือน ส่งเข้ามือถือทุกวัน ทุกระบบ เพียงเดือนละ 29.-
วิธีสมัคร :
ระบบ AIS เพียงกด *455240415 แล้วโทรออก
ระบบ DTAC กด *45521460141 แล้วโทรออก
ระบบ TRUE เข้าเมนูเขียนข้อความ พิมพ์ r pn ส่งมาที่เบอร์ 4552404
พิเศษ สำหรับผู้สมัครใหม่ สมัครวันนี้ รับข่าวฟรี 14 วัน

วันเสาร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2557

"เปลื้องผ้าและไม่ไทยเลย" หนังสือใหม่ของ "เล็ก-จรรยา ยิ้มประเสริฐ"


“เปลื้องผ้า และไม่ไทยเลย” เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นและบทความที่กลั่นออกมาจากชีวิตจริงๆของผู้คนจริงๆ ที่ผู้อ่านอาจจะรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาว่าจะเคยเห็นผู้คนที่เป็นตัวละครในเรื่อง ซึ่งในชีวิตจริงเราอาจจะไม่รู้ว่าพวกเขาเหล่านั้นเจ็บปวดเท่าไหร่? คิดเห็นอย่างไร? และเยียวยาตนเองอย่างไร? กว่าจะกลับมาลุกขึ้นยืนได้อีกครั้งในวันนี้ แต่ในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ จะฉายภาพให้เราได้เห็นกันว่าผู้หญิงที่ต้องตกอยู่ในห้วงทุกข์ยากลำบาก ทั้งในชีวิตคู่และความสัมพันธ์ทางเพศ ภายใต้บริบทของสังคมจารีตที่กดขี่และตราหน้าผู้หญิงให้ต่ำต้อยด้อยกว่าชาย ว่าพวกหล่อนมีวิธีคิดอย่างไร มีวิธีเยียวยาตนเองอย่างไรเพื่อจะได้หลุดพ้นจากกรอบอันบีบคั้นเหล่านั้น

สังคมจารีตใช่แต่จะกดขี่ผู้หญิงในการใช้ชีวิตคู่เท่านั้น แต่ยังลงลึกไปถึงความสุขหรือไม่สุขสมในเพศสัมพันธ์อีกด้วย โดยที่พวกเธออาจจะไม่รู้ตัวเองเลยด้วยซ้ำ ว่าเพศสัมพันธ์ที่ผ่านไปในทุกค่ำคืนนั้น เป็นความสุขแล้วหรือไม่...?


ใช่แต่สังคมที่อิงศาสนาอย่างเข้มงวดเท่านั้นที่สร้างกรอบบีบบังคับขืนใจหญิงเช่นนี้ สังคมจารีตของไทยก็เช่นกัน ซ้ำบางทีอาจจะทำงานได้อย่างเข้มแข็งกว่าสังคมอิงศาสนาเสียด้วย เพราะสังคมจารีตของไทยไม่เปิดโอกาสให้ใครท้าทายหรือไถ่ถามถึง ขนบ ประเพณีที่เป็นมาของมันเลย การแกล้งทำลืม ละเลือน ยิ่งทำให้หญิงไทยต้องตกอยู่ภายใต้ความทุกข์ทน และความไร้สุขในชีวิตคู่และเพศสัมพันธ์มากขึ้น มากขึ้น ตลอดมา และอาจจะตลอดไป หากพวกหล่อนไม่เรียนรู้ที่จะรู้จักลุกขึ้นมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขด้วยตัวของเธอเอง

“เปลื้องผ้าและไม่ไทยเลย” จะเปิดเผยถึงเส้นทางชีวิตของผู้หญิงไร้สุขที่ต้องตกอยู่ภายใต้กรอบจารีตของสังคมในหลายๆมุมและหลายๆสถานการณ์ และฉายให้เห็นว่าพวกเธอเหล่านั้นทำอย่างไรจึงได้หลุดพ้นจากชีวิตที่ไร้สุขในกรอบจารีตมาสู่ชีวิตที่มีความสุขเปี่ยมด้วยความเชื่อมั่นตนเองในชีวิตไร้กรอบจารีต 

คำว่าเปลื้องผ้าพร้อมภาพหน้าปกที่โป๊เปลือยอาจทำให้หลายคนหลงคิดไปว่าหนังสือเล่มนี้จะมีเพียงความอีโรติก รักๆไคร่ๆในเรื่องเซ็กส์เท่านั้น โดยละเลยที่จะมองไปถึงความหมายที่ว่า “เปลื้องผ้า” นั้นก็คือ การปลดเปลื้องมายาแห่งจารีตที่ปิดกั้นห่อคลุมจิตใจผู้หญิงทั้งหลายออกไปด้วย เมื่อผู้คนสามารถทำลายมายาภาพที่ถูกปลูกฝังกล่อมสมองมานานได้แล้ว ก็ย่อมจะทำให้เขาได้เห็นตัวเอง และได้รู้จักตนเอง ผู้คนที่รู้จักตนเองก็ย่อมจะสามารถเลือกได้ว่าตนจะเดินไปในทางใดที่เป็นความสุข ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตัวของเขาเอง

และแม้เนื้อเรื่องและภาพใน “เปลื้องผ้าและไม่ไทยเลย” จะกล่าวถึงผู้หญิงเสียเยอะ ก็ใช่ว่าผู้ชายจะอ่านไม่ได้ หรืออ่านแล้วจะไม่ได้เรียนรู้อะไร เพราะในสังคมจารีตที่สร้างกรอบสำหรับควบคุมพลเมืองอย่างเข้มแข็ง แน่นหนา ของสังคมไทย แม้ผู้ชายก็ยังติดยึดในกรอบที่ถูกฝังหัวมาเช่นกัน และพวกเขาก็ยังพยายามคงคุณค่าทั้งรักษากรอบจารีตนั้นไว้โดยมิพักฉุกคิดหรือสงสัยว่า กรอบที่ตนยึดมั่นว่าสูงส่งและเพียรพยายามรักษาอยู่นั้นมันทำให้คนที่ตนรักเจ็บปวดหรือเปล่า? มันสร้างการกดขี่และข่มขู่คนอื่นอยู่หรือเปล่า? โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรอบที่ว่า “ความดี ความเป็นคนดี" ในสังคมจารีตของไทย

ในนามแห่งความดี ความเป็นคนดีของไทย เราจะเห็นพวกเขาใช้กรอบอันนี้มาวางกฎระเบียบ ทั้งใช้บังคับ ตีค่าหรือตราหน้าคนอื่นๆที่ไม่ยอมอยู่ในแบบแผนจารีตที่พวกเขาพยายามวางครอบงำสังคมไว้เสมอ และสังคมจารีตที่เข้มข้นอย่างสังคมไทยนี้มันก็มีพฤติการณ์ที่แปลกประหลาดอันหนึ่งคือ เมื่อมีใครคนใดคนหนึ่งหรือสถาบันอันใดอันหนึ่งยกชูคุณค่าบางอย่างที่เขาชอบมาว่าเป็นความดี เขาก็จะสามารถใช้คุณค่าดังกล่าวนั้นมากดขี่ ขู่บังคับและข่มคนอื่นๆในสังคมได้เลยทันที โดยที่ไม่มีการถามหรือปรึกษากันก่อนเลยว่า คุณค่าความดีงามที่เขายกย่องเชิดชูนั้นในความเห็นของคนอื่นๆ คิดว่าเป็นเช่นไร? มันดีจริงๆ หรือมันไม่ดี? มันมีคุณค่าน่ายกย่องหรือมันไร้ค่าจนหาสาระไม่ได้...??

ไม่มีเลยที่สังคมไทยจะมีการไถ่ถามถึงความหมายในคุณค่าความดี-งามต่างๆเช่นนี้ มีแต่โยนลงมาและบังคับใช้กับผู้คนในสังคมเลยเท่านั้น สิ่งนี้บ่มเพาะและปลูกฝังมานานจนเรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมไทยไปเสียแล้ว และตรงนี้มันก็บอกถึงความเป็นสังคมจารีตที่เข้มแข็งเข้มข้นของสังคมนี้ว่าอยู่ในระดับสูงเพียงใด...

(...การติดอันดับโลกของไทยทั้งด้านการท้องก่อนวัย  การทำแท้ง  การติดโรคทางเพศ  และเอดส์   ควรจะทำให้รัฐบาลและสังคมตระหนักว่าที่ผ่านมา  นโยบายในเรื่องสุขภาวะทางเพศที่มีปัญหา ได้นำสู่แนวนโยบายที่ผิดทาง  ที่มุ่งไปที่การควบคุมและคุมเข้มเรื่องการห้ามการมีเพศสัมพันธ์  มากกว่าการให้ทุกสถาบัน  และทุกเพศทุกวัยในสังคมตระหนักถึงความเป็นจริงและความเชื่อมโยงแห่งเสรีภาพวิถีเพศกับการดูแลตัวเองได้อย่างเข้มแข็ง ปลอดภัย และมีความสุข
ทั้งนี้  รัฐควรจะส่งเสริมให้คนในสังคม  รู้จักเซ็กส์ที่ปลอดภัย  และไม่อายที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะแห่งชีวิตคู่และเซ็กส์ที่สุขสม 
ต้องหยุดการห้ามเยาวชนมีเซ็กส์ด้วยข้ออ้างอนุรักษ์นิยม  ด้วยทัศนคติที่มองว่าเยาวชนเป็นกลุ่มเสี่ยง  เป็นกลุ่มที่นำมาซึ่งปัญหาสังคม  จึงต้องถูกสอดส่องในวันสำคัญต่างๆ  อาทิ   วาเลนไทน์  วันลอยกระทง  ทำกันราวกับว่าเยาวชนหญิง-ชายเป็นดั่งอาชญากร 
รัฐต้องเปิดรับเรื่องการทำแท้งได้อย่างเสรี  เพื่อผู้หญิงที่มีครรภ์ในสภาวะไม่พึงประสงค์และไม่อยู่ในสภาวะที่จะดูแลบุตรได้  ทั้งทางเศรษฐกิจและสถานภาพในสังคม  ไม่ใช่เฉพาะด้านสุขภาพเท่านั้น 
เปิดเสรีภาพการเลือกวิถีเพศ  การเลือกคู่ครอง  ปรับแก้กฎหมายให้มีกระบวนการรับรองสิทธิการเลือกเหล่านั้น  ไม่ว่าจะเรื่องเพศ  และการใช้ชีวิตคู่ที่ไม่ว่าจะระหว่างเพศหรือเพศเดียวกัน
เปิดรับข้อเสนอด้านนโยบายที่ก้าวหน้าทั้งหลาย  เพื่อคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจาก  “ความรุนแรงในครอบครัว” ทั้งมี “มาตรการป้องปรามการทารุณเด็กและการค้าประเวณีเด็กและผู้หญิง” ที่มีประสิทธิภาพ  
ส่งเสริมแนวนโยบายให้สังคมตระหนักในเรื่อง  “เซ็กส์ที่มีความสุข”  “เซ็กส์ด้วยความรับผิดชอบ”  และ “เซ็กส์บนฐานของการเข้าใจมัน”  เคารพตนเองและคู่ครองหรือคู่นอน และไม่ใช้กำลังบังคับการมีเพศสัมพันธ์...)

ข้างบนคือข้อเสนอที่กลั่นออกมาจากประสบการณ์การทำงานช่วยเหลือสังคมอย่างยาวนานของผู้เขียน “เปลื้องผ้าและไม่ไทยเลย” ต่อผู้มีอำนาจในรัฐบาล เพื่อที่จะปฏิรูปสังคมไทยให้หลุดพ้นจากการเป็นสังคมจารีต อนุรักษ์นิยมที่ดัดจริตและตอแหลสร้างภาพโกหกตัวเอง เพื่อที่สังคมนี้จะได้กลายเป็นสังคมที่ยืนอยู่กับความเป็นจริง เป็นสังคมที่เรียนและรู้จักตนเองอย่างแท้จริง รู้สถานภาพของตนในสังคมโลก และรู้ว่าตนจะนำพาสังคมก้าวเดินไปในแนวทางใดจึงจะทำให้สังคมนี้เป็นสังคมที่พัฒนาแล้วอย่างเท่าเทียมกับประเทศที่เจริญแล้วในโลก

หลายคนคงประหลาดใจว่าทำไม ข้อเสนอเพื่อปฏิรูปสังคมจากหนังสือ “เปลื้องผ้าและไม่ไทยเลย” ที่ผมยกมาจึงเป็นเรื่องราวของเซ็กส์และเพศสัมพันธ์ ที่จริงแล้วข้อเสนอเพื่อปฏิรูปสังคมจากหนังสือเล่มนี้นั้นมีหลากหลายแง่มุม(ผู้สนใจควรจะเข้าไปศึกษาเองจากในเล่ม) แต่ที่นำเสนอการปฏิรูปเรื่องเซ็กส์ก็เพราะ เรื่องนี้เป็นพื้นฐาน เป็นเรื่องสามัญธรรมดาที่อยู่คู่กับมนุษย์ เป็นเรื่องอารมณ์พื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนต่างก็มีความรู้สึกต่อมันด้วยกันทั้งนั้น

แต่... ด้วยความที่อยู่ในสังคมจารีตจึงทำให้คนในสังคมถูกกด ถูกปิดการรับรู้และเรียนรู้กับเรื่องพื้นๆของมนุษย์เช่นนี้ไป ทำให้การรับรู้ในเรื่องเซ็กส์และเพศวิถีของผู้คนในสังคมจารีตแห่งนี้บิดเบี้ยวและเกิดความเข้าใจผิดๆต่อๆกันมา และเป็นต้นธารให้เกิดความรุนแรงในหลากหลายมิติขึ้นในสังคม จากความเก็บกดในจิตใจของผู้คนในสังคม การจะปฏิรูปสังคม เราย่อมหลีกไม่พ้นที่จะต้องเรียนรู้ที่จะรู้จักสังคมที่ตนอยู่อย่างถูกต้อง และก่อนที่จะรู้จักสังคมของตนได้อย่างถูกต้องก็ย่อมจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะต้องรู้จักตนเองให้ถ่องแท้เสียก่อน
ความน่าอ่านของหนังสือ  “เปลื้องผ้าและไม่ไทยเลย”  คือ การที่หนังสือเล่มนี้ช่วยสะท้อนภาพสังคมพร้อมทั้งตัวตนของเราออกมาอย่างชัดเจน  ตรงไปตรงมา  และเปลื้องเปลือย  เพื่อที่เราจะได้รู้จัก  ได้เรียนรู้ตนเอง  เรียนรู้สังคม  จะได้เข้าใจตนเองและสังคม  เพื่อจะได้ช่วยกันทลายกรอบกฎเกณฑ์ที่มันกดขี่  บีบคั้น  และบังคับความเป็นคน  ความเป็นมนุษย์ของเราให้หมดสิ้นหรืออย่างน้อยก็ลดน้อยลงไป  เพื่อที่เราจะได้อยู่ในสังคมมนุษย์ที่เทียมหน้าเสมอภาค  เข้าใจตนเอง  เข้าใจผู้อื่น  และเข้าใจสังคมร่วมกัน  

*****************************************************************************************************

เจ้าของหนังสือ : จรรยา ยิ้มประเสริฐ 




ประวัติการทำงานโดยสังเขป


2532
  • จบการศึกษาอักษรศาสตร์บัณฑิต (สังคมศาสตร์การพัฒนา) มหาวิทยาลัยศิลปากร
  •  ผู้ช่วยวิจัยเรื่องผลกระทบของการท่องเที่ยวที่เกาะสมุย
2533
  • ทุนไปศึกษาดูงานที่ออสเตรเลีย
  •  ศูนย์แรงงานอพยพ ช่วยเหลือแรงงานไทยและแรงงานเอเชียร้องเรียนเรื่องสิทธิและค่าเสียหาย ฮ่องกง
2535
  •  องค์กรกลาง
  •  ศูนย์บริการข้อมูลและฝึกอบรมแรงงาน
2536
  •  วิจัยเรื่องคนงานไทยในสิงคโปร์
  • องค์กรอาสาสมัครแคนาดา (CUSO) ทำงานด้านประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนและงานส่งเสริมบทบาทหญิงชาย
2538 
  • Focus on the Global South (โครงการศึกษาแบะปฏิบัติการงานพัฒนา)
2540 -2542
  •  อาสาสมัครช่วยงานสมัชชาคนจนและกลุ่มเพื่อนประชาชน
  •  ประสานงานสัมมนา ผู้หญิงชาวนาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรุงเทพ
2542
  • ผู้ประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนรีบอค (4 เดือน)
  • รายงาน “จรรยาบรรณด้านแรงงานของบรรษัทข้ามชาติจะสามารถส่งเสริมสิทธิแรงงานได้จริงหรือไม่?


2544  ก่อตั้งโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการจนถึงเดือนมิถุนายน 2553


2004
  • มกราคม World Social Forum, Mumbai, อินเดีย
  • พฤษภาคม People Global Action, Dhaka, บังคลาเทศ
  • สิงหาคม โอลิมปิกคนงานเอเชีย กรุงเทพฯ
2548
  •  People Global Action, ฮาริดวาร์, อินเดีย
  • บริษัท Publicis ฟ้องร้องจรรยา ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จากการช่วยเหลือคนงานบริษัทที่เมืองไทยเรียกร้องค่าเสียหายจากการถูกเลิก จ้างไม่เป็นธรรม บริษัทถอนฟ้องหลังจากถูกขบวนการแรงงานสากลรณรงค์ประท้วง
2549
  •  ประสานเวทีสมานฉันท์โลกใต้กับโลกใต้ที่งานภาคประชาสังคมโลก ไนโรบี เคนยา
  •  การสัมนานานาชาติของเครือข่ายแรงงานทั่วโลก ลิม่า เปรู
  •  ธันวาคม ย้ายไปอยู่เชียงใหม่และเริ่มสร้างโครงการ “การพึ่งตนเองด้วยวิถีออแกนิกส์ที่ไร่เปิดใจ” อ. แม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่

2550 ร่วมก่อตั้งเครื่อข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานต่างประเทศ


2552
  •  มีนาคม - กรกฎาคม เดินสายประชุมและนำเสนอปัญหาแรงงานไทยที่ยุโรป 7 ประเทศ
  • ธันวาคม ร่วมประกาศจัดตั้ง สหภาพคนทำงานต่างประเทศ


นับตั้งแต่ปี 2553 ประสานกิจกรรม ACT4DEM แอคชั่นเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย และสหภาพคนทำงานต่างประเทศ เพื่อศึกษาเรื่องปัญหาแรงงานไทยในยุโรป
ปัจจุบันนั่งทำงานเขียนหนังสือ บทความ ผลิตสื่อการศึกษา และรณรงค์เพื่อสิทธิแรงงานและเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทยอยู่ประเทศฟินแลนด์ 

งานเขียนที่จัดพิมพ์

มาสเตอร์ทอย: 72 ปีแห่งการต่อสู้บนท้องถนน(2544)

จรรยา ยิ้มประเสริฐ และบรรจง เจริญผล

เรื่องราวของคนงานกว่า 150 คนที่ตื่นรู้ในเรื่องสิทธิ และประท้วงบริษัทเมเฉิงทอย ที่เลิกจ้างพวกเขาเพราะจัดตั้งสหภาพแรงงาน, 2544


ใครบอกว่าคนไทยอ่อนแอ (2545)

จรรยา ยิ้มประเสริฐ จรัล กล่อมขุนทศ และรุ่งนภา ขันคำ

จรัลและรุ่งนภาเป็นสองในแกนนำสหภาพเสรีปานโก้ ที่หนังสือสือเล่มนี้ได้เขียนขึ้นเพื่อรำลึก 10 ปีแห่งการต่อสู้ของพวกเขา ชาวเสรีปานโก้, 2544 เป็นสหภาพเดียวในประวัติศาสตร์เท่าที่ทราบท่ีทำให้นายทุนที่เอาเปรียบแรงงาน ต้องเข้าไปอยู่ในคุก เผชิญกับความเจ็บปวด (แม้จะระยะเวลาสั้น) เช่นที่คนงานต้องเผชิญทุกเมื่อเชื่อวัน


โซ่การผลิตของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (ไทยและอังกฤษ) (2546)

รายงานการศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการและโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ในประเทศไทยที่กดชะตากรรมของคนงานหญิงนับล้านคนไว้ในขั้นตอนสุดท้ายแห่งการ ผลิตในอัตราค่าจ้างต่ำสุด และต่อต้านการรวมตัวต่อรองของคนงานหญิงอย่างรุนแรง
พอกันที (ไทยและอังกฤษ)(2546)

พอกันที

พอกันทีกับยุทธการทำร้ายและรังแกคนงาน โดยเฉพาะในความพยายามขัดขวางคนงานในทุกวิถีทางของนายทุน เพื่อไม่ให้สามารถตั้งสหภาพแรงงานเพื่อรวมตัวต่อรองกับนายทุนได้สำเร็จ เรื่องราวการต่อสู้ได้้ถูกนำเสนอในรูปแบบบทสนทนาและภาพวาดเพื่อให้เข้าใจได้ ง่าย

ต้นทุนต่ำสุด กำไรสูงสูด (ไทยและอังกฤษ)(2549)

จรรยา ยิ้มประเสริฐ และ Petter Hveem เป็นงานเขียนที่วิพากษ์การปรับตัวของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มโลกที่วางระบบ การผลิตอยู่บนการลอยตัวของความรับผิดชอบตรงต่อคนงานที่อยู่ในโซ่สุดท้ายของ การผลิต และสร้างภาพลักษณ์แห่งการเป็นบรรษัทข้ามชาติที่มีจรรยาบรรณด้านแรงงานและมี จริยธรรมเพื่อสังคม

กว่าจะบอกได้ว่า ทำไมถึงไม่รักในหลวง
เป็นงานเขียนที่เกิดจากความสุดทนเมื่อเห็นประชาชนคนไทยถูกทหารยิงตายกลางท้องถนนอย่างป่าเถื่อนและโหดร้ายอีกครั้ง เมื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงเดือนเมษา-พฤษภาฯ 2553

แรงงานข้ามชาติ
รวบบทความงานเขียนที่เชื่อมร้อยปัญหาแรงงานโรงงานอุตสาหกรรม และปัญหาเกษตรกรแรงงานในชนบทที่ถูกล่อหลอกให้จ่ายค่าหัวคิวแพงลิบกับการไปทำงานที่ยากลำบากที่ต่างแดน กับวิถีการเมืองประชาธิปไตยใต้กระบอกปืนที่ครองธรรมเนียมการเมืองไทยมายาวนานหลายทศวรรษ  


**********************************************************************

วันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2557

ก็ไพร่นี่คะ เล่ม 3 ของ "คำผกา"

ก่อนหน้านี้เราได้อ่าน "ไพร่นี่คะ" เล่ม 1 และ เล่ม 2 ผลงานของนักเขียนฝีมือดี ฝีปากกล้า อย่าง คุณคำผกา กันมาแล้ว ขณะนี้สำนักพิมพ์อ่าน ได้ตีพิมพ์ผลงานเล่มใหม่ "ก็ไพร่นี่คะ" เล่ม 3 ออกวางตลาดแล้วค่ะ พี่น้องผู้รักประชาธิปไตย สามารถติดตามอ่านและหาซื้อได้ที่ร้านหนังสือทีพีนิวส์ (ในอนาคตไม่ไกลนี้จะเปลี่ยนชื่อเป็น "ร้านจักรภพ" หรือ Jakrapob's Bookstore เพื่อง่ายแก่การจดจำและเรียกขานกัน) ที่ห้างอิมพีเรียล เวิล์ด ลาดพร้าว ชั้น 4 หรือ โทร.สั่งซื้อได้ที่ 085-5049944 หรือสั่งซื้อทางเว็บไซต์ของร้านที่ www.tpnewsbook.com ค่ะ



ก็ไพร่นี่คะ เล่ม 3
โดย คำ ผกา
รวมบทความคัดสรรจากมติชนสุดสัปดาห์
ตั้งแต่เลือกตั้ง 3 กรกฎา 2554 และหนึ่งปีวิบากรัฐบาลเลือกตั้ง
คำนำเสนอโดย เวียงรัฐ เนติโพธิ์ ว่าด้วย “ปรากฏการณ์คำ ผกา: เมื่อหญิงคนชั่วริสร้างชาติ”
พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก กันยายน 2556
424 หน้า ราคา 400 บาท
บางส่วนจากคำนำเสนอ โดย เวียงรัฐ เนติโพธิ์
ข้อสงสัยในหญิงคนชั่ว
คำถามที่ข้าพเจ้าติดหนี้ค้างอยู่หลายปี คือคำถามจากอาจารย์ที่ปรึกษาของ “คำ ผกา” ที่ชื่อว่าอาจารย์โยชิฟุมิ ทามาดะ แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต สมัยที่คำ ผกา ยังมีหนังสือตีพิมพ์เพียง 7-8 เล่ม อาจารย์ถามข้าพเจ้าว่า “อาจารย์เวียงรัฐครับ ทำไมลักขณาจึงได้รับความนิยมในสังคมไทย” ข้าพเจ้าได้ตอบไป ง่ายๆ ว่า “คงเพราะลักขณาเธอชอบด่าและสบประมาทพวกคอนเซอร์เวทีฟมั้ง จึงสร้างความสะใจให้คนที่ไม่ใช่คอนเซอร์เวทีฟซึ่งมีอยู่ไม่น้อยในสังคมไทย” แม้จะตอบไปเช่นนั้น แต่ก็ติดค้างมาตลอดว่าไม่น่าจะใช่คำตอบที่รอบด้านนัก หลายปีที่ผ่านมาข้าพเจ้าจึงอ่านและฟังคำ ผกา ชนิดที่มีคำถามนี้ตามมาด้วยตลอด ช่างน่าสงสัยนักว่าหล่อนมีอะไรดี (พูดให้ถูกคือหล่อนมีอะไรเลว) จึงเป็นที่ถูกอกถูกใจคนในสังคมไทยส่วนหนึ่งนักหนา และยิ่งนับวันก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นเมื่อถึงวาระที่สำนักพิมพ์อ่านได้รวมบทความของคำ ผกา ที่เคยตีพิมพ์ใน มติชนสุดสัปดาห์ ตั้งแต่หลังการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 เป็นต้นมา เป็น ก็ไพร่นี่คะ เล่ม 3 นี้ ข้าพเจ้าประสงค์จะตอบคำถามที่ค้างไว้หลายปีนั้นให้ได้มากขึ้น แม้จะไม่แน่ใจนักว่าจะตอบได้ดีขึ้นหรือไม่ก็ตาม
******************************************************************************************************************
ผลงานก่อนหน้านี้











****************************************************************************************************************
คำผกา : ประวัติ

ลักขณา ปันวิชัย หรือ คำ ผกา (ชื่อเล่น: แขก) เกิดเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2515 ที่อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นนักเขียนที่เป็นรู้จักในฐานะนักเขียนคอลัมน์เรื่อง "กระทู้ดอกทอง" และพิธีกรในสถานีวอยซ์ทีวี
ในอดีตได้ทำงานเป็น นักข่าว และครู คอลัมนิสต์ นักแปล และได้ถ่ายภาพเปลือยให้แก่นิตยสารจีเอ็ม และถ่ายภาพเปลือยตัวเองเพื่อแสดงความเห็นในคดีระหว่างพนักงานอัยการ กับอำพล ตั้งนพกุล
ในขณะที่เป็นนักเขียนเธอได้มีนามปากกาหลายชื่อ ได้แก่ "คำ ผกา", "ฮิมิโตะ ณ เกียวโต" และ "คำปัน ณ ปันนา" 

ลักขณา ปันวิชัย มีชื่อเล่นว่า "แขก" เกิดและโตที่บ้านสันคะยอม อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เข้าศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่โรงเรียนดาราวิทยาลัย ต่อมาได้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านประวัติศาสตร์จากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อมาหลังจากทำงานเป็นนักข่าวของอสมท และครูสอนวิชาสังคมศึกษาที่โรงเรียนดาราวิทยาลัย ต่อมาได้รับทุนมอนบุโชไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอก ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ภายหลังจบปริญญาโทในด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา เธอได้วางแผนทำดุษฎีนิพนธ์ในระดับปริญญาเอกในหัวข้อสตรีนิยม แต่ได้ยกเลิกการเรียนปริญญาเอก เนื่องจากอกหัก
ลักขณาเป็นนักเขียนที่มีแนวคิดร่วมสมัย โดยเฉพาะมุมมองที่ถนัดทางด้านสตรีนิยม มีสไตล์การเขียนที่เป็นเอกลักษณ์และก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากโดยเฉพาะข้อสงสัยต่อองค์ความรู้เกี่ยวกับชนบทของเธอ ผลงานของเธอที่มีชื่อเสียงปรากฏอยู่ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ในคอลัมน์ชื่อ "กระทู้ดอกทอง" โดยใช้นามปากกาว่า "คำ ผกา" และคอลัมน์ "จดหมายจากเกียวโต" โดยใช้นามปากกา "ฮิมิโตะ ณ เกียวโต" ซึ่งได้มีการตีพิมพ์รวมเล่มแล้ว
ลักขณาเขียนบทความประจำให้แก่นิตยสารหลายเล่ม เช่น ดิฉัน ("คลุกข้าว-ซาวเกลือ"), มติชนสุดสัปดาห์อ่าน ("หล่อนอ่าน"), VOLUMEHUG ("ผู้หญิงขั้วบวก") ฯลฯ และยังมีผลงานพ็อกเก็ตบุครวมบทความต่าง ๆ ทั้งยังเป็นผู้ดำเนินรายการ คิดเล่นเห็นต่างกับคำผกา ร่วมกับ อรรถ บุนนาค ซึ่งเป็นรายการที่วิพากษ์วิจารณ์ประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นที่สนใจของสังคมและยังเป็นผู้ดำเนินรายการดีว่าคาเฟ่ ร่วมกับ วันรัก สุวรรณวัฒนา มนทกานติ รังสิพราหมณกุล จิตต์สุภา ฉิน อินทิรา เจริญปุระ อรรถ บุนนาคกรกฎ พัลลภรักษา และ พรรณิการ์ วานิช ซึ่งเป็นรายการผู้หญิงที่เป็นการรวบรวมเนื้อหาสาระและบันเทิงในมุมมองของผู้หญิง มีการวิพากษ์วิจารณ์ประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม และบันเทิงทั้งในและต่างประเทศ โดยรายการดังกล่าวออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี

ผลงานที่ตีพิมพ์เป็นเล่ม


นามปากกา คำ ผกา
  • Open House 2 (2545 รวมบทความของนักเขียนหลายคน)
  • คืนวันพุธ (เรื่องสั้น) ใน อิสตรีอีโรติก (2545 รวมเรื่องสั้นของนักเขียนหลายคน)
  • กระทู้ดอกทอง (2546 รวมบทความวิจารณ์วรรณกรรมที่เคยตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์[7])
  • รักเธอ (เรื่องสั้น) ใน ชู้ รักนอกใจ (2546 รวมเรื่องสั้นของนักเขียนหลายคน)
  • เซี่ยงไฮ้เบบี้ (2546 นวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติ แปลจากผลงานของเว่ย ฮุ่ย)
  • ฉัน-บ้า-กาม (2547)
  • รักไม่เคยชิน (2547)
  • เรียกฉันว่า...ผู้หญิงพิเศษ (2547 รวมบทความของนักเขียนหลายคน)
  • เกียวโต คู่มือท่องเที่ยวญี่ปุ่นด้วยตนเอง (2552 เขียนร่วมกับกรกฎ พัลลภรักษา)
  • ส้นสูง สโนไวท์ ลิปสติก (2552 เขียนร่วมกับกุสุมาลย์ ณ กำพู)
  • บนเตียงเดี่ยว (เรื่องสั้น) ใน ริมฝีปาก (รวมเรื่องสั้นของนักเขียนหลายคน)
  • ก็ไพร่นิค่ะ (2553)
  • เปิด เปลื้อง เปลือย คำ ผกา (2554)
นามปากกา ฮิมิโตะ ณ เกียวโต
  • จดหมายจากเกียวโต (2545 รวมบทความสัพเพเหระเกี่ยวกับญี่ปุ่นที่เคยตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์)
  • จดหมายจากสันคะยอม (2546)
  • ยำใหญ่ใส่ความรัก (2546)
  • ยุให้รำตำให้รั่ว (2548 รวมบทความจากคอลัมน์ชื่อเดียวกันที่เคยตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์)
  • โสดสนุกสูตรอร่อย (2550)
  • เกียวโต รักเธอมากขึ้นทุกวัน (2552)
  • จักรวาลในสวนดอกไม้ (2552) ISBN : 9789744752383
  • เมนูปรารถนา
  • คลุกข้าวซาวเกลือ (2554 รวมบทความจากคอลัมน์ชื่อเดียวกันที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสารดิฉัน)
  • ติด (เรื่องสั้น) ใน สามัคคีเพศ (2554)
นามปากกา คำปัน ณ ปันนา
  • คืนนี้ฉันไม่อยากนอนกับใคร (เรื่องสั้น) ใน ทำไมเธอร้องไห้ (2549 รวมเรื่องสั้นของนักเขียนหลายคน)

**************************************************************************************************************






วันจันทร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2557

กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์ สังคมและการเมืองสยาม เล่ม 1 (พ.ศ. 2484-2490) อีกปก จากสนพ.อ่าน



กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยามเล่ม 1 (พ.ศ. 2484-2490)
โดย นายผี
โครงการอ่านนายผี ลำดับที่ 2

หมายเหตุการจัดพิมพ์
เนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์
กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม เป็นหนังสือชุดหนึ่งใน “โครงการอ่านนายผี” ซึ่งสำนักพิมพ์อ่านได้รับอนุญาตจากคุณวิมลมาลี พลจันทร บุตรสาวของคุณอัศนี พลจันทร ให้จัดพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณชนอีกครั้งหนึ่ง โดยจะเริ่มต้นในวาระ 95 ปีชาตกาลของคุณอัศนี พลจันทร ซึ่งตรงกับวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2556
การจัดพิมพ์ กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม ครั้งนี้ ยึดตามต้นร่างซึ่งคุณวิมล พลจันทร ภรรยาของคุณอัศนี และบรรณาธิการของหนังสือชุดนี้ ได้ชำระต้นฉบับไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งเตรียมจัดพิมพ์ในวาระครบอายุ 85 ปี “นายผี” พ.ศ. 2546
เอกสารต้นร่างดังกล่าวรวบรวมกาพย์กลอนมากกว่า 300 เรื่องและจัดเรียงลำดับตามการตีพิมพ์ครั้งแรกไว้ดังนี้ 1) กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม พ.ศ. 2484-2489 ผนวก 2490 2) กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม พ.ศ. 2491 3) กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม พ.ศ. 2492 4) กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม พ.ศ. 2493 5) กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม พ.ศ. 2494 6) กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม พ.ศ. 2495 และ 7) กาพย์กลอนวิพากษ์
วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม พ.ศ. 2501-2502
คุณวิมลรวบรวมกาพย์กลอนเหล่านี้และชำระต้นฉบับทั้งหมด รวมทั้งได้สอบทานกับต้นฉบับลายมือของคุณอัศนีเท่าที่มีหลงเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งมีทั้งกาพย์กลอนและส่วนไขคำ/สถานการณ์ท้ายกาพย์กลอน นอกจากนั้นคุณวิมลยังได้เขียนสถานการณ์การเมืองสยามโดยสังเขปเพื่อเกริ่นนำกาพย์กลอนแต่ละหมวด และเขียนไขสถานการณ์ประกอบท้ายกาพย์กลอนแต่ละเรื่องเพิ่มเติม (แต่ไม่ครบทั้งหมด) เพื่อให้เป็นไปตามโครงสร้างต้นฉบับเดิมของคุณอัศนีที่ได้สูญหายไปในราว พ.ศ. 2495 ด้วย* เรื่องต้นฉบับสูญหายไปนี้ ยังความเสียใจเป็นอย่างยิ่งให้แก่คุณวิมล แต่ในภายหลังกลับกลายเป็นแรงผลักดันให้คุณวิมลทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่เพื่อรวบรวมต้นฉบับกาพย์กลอนนายผีให้ครบถ้วน แม้ว่าสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวจะไม่เอื้ออำนวย และคุณวิมลประสบอุบัติเหตุตกจากรถเมล์ถึงสองครั้งในระหว่างเดินทางไปหอสมุดแห่งชาติ
คุณวิมลมาลีเล่าถึงการทำงานของคุณวิมลในระหว่างการรวบรวมและชำระต้นฉบับกาพย์กลอนนายผีว่า “เราไม่มีรถ เราไม่มีเงิน นั่งๆทำกันไป พอไม่รู้อะไรก็ไปห้องสมุด นั่งรถเมล์ไป”**
สถานที่ทำงานของคุณวิมลคือนอกชานบ้านหลังน้อย ซึ่งแต่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนของคุณฉลบชลัยย์ พลางกูร ภรรยาของคุณจำกัด พลางกูร ผู้เป็นมิตรสนิทของคุณอัศนี ส่วนคุณวิมลมาลีก็ได้ช่วยงานสอนเด็กเล็กอยู่ด้วย ปัจจุบันกิจการโรงเรียนเลิกไปแล้ว แต่คุณฉลบชลัยย์ได้ยกบ้านหลังนี้ให้แก่คุณวิมลมาลีกับครอบครัว บ้านน้อยหลังนี้มีชื่อว่า “บ้านเดือนเพ็ญ”
อย่างไรก็ดี การทำงานของคุณวิมลก็ยังไม่สำเร็จลุล่วงเนื่องจากคุณวิมลได้ล้มป่วยและเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2545 ในวัย 81 ปี
แม้ว่าต้นฉบับกาพย์กลอนนายผีร่างแรกจะสูญหายไป และในช่วงกบฏสันติภาพ (10 พ.ย. 2495) คุณอัศนีต้องหลบหนีการจับกุมและหยุดเขียนงานลงในหนังสือพิมพ์ต่างๆไปนานถึงห้าปี แต่กาพย์กลอนนายผีก็ได้มีการจัดพิมพ์ในภายหลังในลักษณะคัดสรรอยู่เป็นครั้งคราว เช่นเมื่อ พ.ศ.2500 คุณอัศนีได้ติดต่อให้คุณอารีย์ พื้นนาค เจ้าของสำนักพิมพ์อักษรวัฒนา นำกาพย์กลอน 30 เรื่องซึ่งเคยตีพิมพ์ในสยามสมัย (รายสัปดาห์) ไปจัดพิมพ์เป็นหนังสือพร้อมกับต้นฉบับงานอีกสองเรื่อง โดยมีคุณอุดม สีสุวรรณ เป็นผู้นัดหมายให้พบกันที่บ้านของคุณอัศนีย่านพระโขนง:

คุณอัศนีได้ส่งแฟ้มแข็งสองแฟ้มซึ่งเป็นต้นฉบับงานของท่าน รวมทั้งหมดมี 4 เรื่อง คือ กาพย์กลอนนายผีชุดที่ 1 และชุดที่ 2 เล่มที่ 3 คือ ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน โดยใช้นามปากกา “ศรีอินทรายุธ” เล่มที่ 4 เป็นเรื่องที่แปลมาจากภาษาสันสกฤตชื่อ ภควัทคีตา งานประพันธ์ของท่านที่มอบให้ผมจัดพิมพ์ วางตลาดได้เพียง 3 เล่มเท่านั้น เล่มที่ 4 ไม่ได้จัดพิมพ์ เพราะผมถูกศาลทหารในขณะนั้นตัดสินจำคุก 6 ปี (อารีย์ พื้นนาค, “เสี้ยวหนึ่งแห่งกาลเวลา”, ชีวิตและผลงาน: ตำนาน ‘นายผี’ อัศนี พลจันทร (2461-2530), กรุงเทพฯ: คณะกรรมการจัดงาน “นายผีคืนถิ่นแผ่นดินแม่”, 2541, น. 223.)

กาพย์กลอนนายผี ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกนี้ สำนักพิมพ์อ่านสืบค้นไม่พบจากหอสมุดต่างๆ ในประเทศไทย จนกระทั่งเมื่อปลายปี 2555 คุณไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ ได้เดินทางไปร่วมสัมมนาเรื่อง “The Politics of Criticism in Thailand: Arts and Aan” ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา จึงพบหนังสือดังกล่าว และช่วยทำสำเนานำกลับมาเพื่อเป็นเอกสารประกอบการชำระต้นฉบับผลงานของคุณอัศนีอีกทางหนึ่ง ทว่า กาพย์กลอนนายผีฉบับ พ.ศ. 2501 มีเพียงเล่มเดียว ไม่ใช่หนังสือชุดที่ 1 และชุดที่ 2 ตามคำบอกเล่าข้างต้น สำนักพิมพ์อ่านได้สอบถามเรื่องนี้ไปยังสำนักพิมพ์อักษรวัฒนาในภายหลัง แต่เป็นที่น่าเสียดายที่คุณอารีย์เสียชีวิตไปแล้ว จึงไม่มีข้อมูลเพิ่มเติม
หลังจากการตีพิมพ์ครั้งแรกแล้ว ในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นระยะที่เกิดกระแสการกลับไปอ่านผลงานของนักคิดนักเขียนในช่วงรอยต่อกึ่งพุทธกาล เช่น เปลื้อง วรรณศรี, ทวีป วรดิลก, จิตร ภูมิศักดิ์ ฯลฯ ผลงานกาพย์กลอนของนายผีก็มีการนำมาจัดพิมพ์ใหม่เช่นกัน โดยมีทั้งแบบคัดสรรชิ้นงานอย่างเช่น กวีประชาชน (กลุ่มวรรณกรรมธรรมศาสตร์, 2517) นำบทกวีของนักเขียน 30 คนในช่วง พ.ศ. 2493-2510 มารวมตีพิมพ์ โดยมีกาพย์กลอนของนายผีอยู่ 4 เรื่องด้วยกัน หรือในกาพย์กลอนขนาดยาว เราชะนะแล้ว, แม่จ๋า ของนายผีเอง สำนักพิมพ์เยาวชน (2522) ก็นำกาพย์กลอนนายผี 15 เรื่องมารวมพิมพ์ด้วย โดยแยกไว้เป็นหมวด “อหังการของกวี” เป็นต้น
การจัดพิมพ์กาพย์กลอนนายผีครั้งสำคัญน่าจะได้แก่ รำลึกถึงนายผีจากป้าลม (ดอกหญ้า, 2533) เนื่องในวาระอายุครบ 72 ปีของคุณอัศนี พลจันทร ซึ่งคุณวิมล พลจันทร หรือป้าลม ได้นำกาพย์กลอนนายผีจำนวน 27 เรื่อง ที่เคตีพิมพ์ใน สยามนิกร (รายวัน) และ สยามสมัย (รายสัปดาห์) ในระยะ พ.ศ. 2489-2491 มาพิมพ์รวมเล่ม โดยกาพย์กลอนเหล่านี้ (26 เรื่อง) มีไขคำ/สถานการณ์ประกอบท้ายกาพย์กลอนซึ่ง “นายผี” เป็นผู้เขียนไว้เองเนื่องจาก:

เป็นความตั้งใจของคุณอัศนีที่จะตอบคำถามของท่านผู้อ่านที่ถามมา และได้รวบรวมไว้แต่ปี พ.ศ. 2490 ถึงปี พ.ศ. 2495 และต้นฉบับได้สูญหายไป พ.ศ. 2527 ข้าเจ้าได้พบกาพย์ โคลง กลอน เมื่อคลี่ออกมาดูปรากฏว่ากระดาษนั้นกรอบและขาดเปื่อยไปมากแล้ว ส่วนที่นำมาปะติดปะต่อได้มีจำนวนเพียงเล็กน้อย (วิมล พลจันทร, “จากใจของผู้รวบรวม”, รำลึกถึงนายผีจากป้าลม, น. 6)

นอกจากนั้นคุณวิมลยังเขียนบทความ “ความงามของชีวิต” บอกเล่าถึงชีวิตส่วนตัวของคุณอัศนีเป็นครั้งแรก และนำกาพย์กลอนของคุณอัศนี “ที่เขียนขึ้นในขณะที่ประสบสถานการณ์ในเขตต่างๆ” มารวมไว้ด้วย ต่อมาในปลายปี 2533 หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์ซ้ำในชื่อ รำฤกถึงนายผีจากป้าลม โดยสำนักพิมพ์ทะเลหญ้าได้เพิ่มกาพย์กลอนกับไขคำ/สถานการณ์ที่ตกหล่นอีก 6 เรื่อง รวมเป็น 33 เรื่อง
ภายหลังการเชิญอัฐิคุณอัศนี พลจันทร กลับสู่ประเทศไทย และการจัดงาน “นายผีคืนถิ่นแผ่นดินแม่” ในวันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2540 ในปีถัดมาคณะกรรมการจัดงานดังกล่าวได้จัดพิมพ์ ชีวิตและผลงาน: ตำนาน “นายผี” อัศนี พลจันทร (2461-2530) รวบรวมบทความและข้อเขียนเพื่อรำลึกถึงคุณอัศนีจากผู้คนในหลากหลายแวดวง สำนักพิมพ์สามัญชนก็ได้รวบรวมผลงานทั้งหมดของคุณอัศนีจัดพิมพ์เป็นหนังสือชุด 3 เล่ม ในชื่อ รวมบทความ, รวมบทกวีและรวมเรื่องสั้น: “นายผี” อัศนี พลจันทร
การจัดพิมพ์ กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม ครั้งนี้ สำนักพิมพ์อ่านได้ขอคำปรึกษาจากคุณวิมลมาลีและสืบค้นต้นฉบับที่ยังขาดเพิ่มเติม*** และได้ตรวจสอบกับต้นฉบับลายมือคุณอัศนีที่ยังเหลืออยู่ รวมทั้งฉบับพิมพ์ครั้งแรกเท่าที่สืบค้นได้ และจัดทำเชิงอรรถเพิ่มเติมในกรณีที่จำเป็น โดยรักษาโครงสร้างงานไว้ตามต้นร่างที่รับมอบมา
กาพย์กลอนที่รวบรวมรายชื่อได้ล่าสุดมีจำนวน 338 เรื่อง**** ครอบคลุมผลงานที่เผยแพร่ระหว่าง พ.ศ. 2484-2502 ในสิ่งพิมพ์รายคาบหลายฉบับ ได้แก่ เอกชน (รายสัปดาห์), นิกรวันอาทิจ, สยามนิกร (รายวัน), สยามสมัย (รายสัปดาห์), อักษรสาส์น (รายเดือน), มหาชน (รายสัปดาห์) และ ปิยมิตรวันจันทร์ กาพย์กลอนเกือบทั้งหมดผู้เขียนใช้นามปากกา “นายผี” แต่มี 6 เรื่องใช้นามปากกา “อ.ส.” และอีก 1 เรื่องระบุว่า “อ.ส. และนายผีช่วยกันแต่ง”
กาพย์กลอนในแต่ละหมวดขึ้นต้นด้วยสถานการณ์การเมืองสยามโดยสังเขป คุณวิมลเขียนเรียบเรียงข้อมูลส่วนนี้เพื่อนำเสนอภาพรวมเหตุการณ์ทางสังคมและการเมืองในช่วงเวลาที่ “นายผี” เขียนกาพย์กลอน โดยได้อาศัยข้อมูลจากปริญญานิพนธ์เรื่อง “วิเคราะห์บทร้อยกรองของ ‘นายผี’” ของคุณสุจิรา คุปตารักษ์ ซึ่งเสนอต่อมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เมื่อ พ.ศ. 2526
ต่อจากสถานการณ์การเมืองสยามโดยสังเขป เป็นกาพย์กลอนนายผีซึ่งเรียงไปตามลำดับเวลาการตีพิมพ์ครั้งแรก โดยมีไขคำ /สถานการณ์ประกอบท้ายกาพย์กลอนเป็นเรื่องๆไป ทั้งนี้กาพย์กลอนที่ “นายผี” เขียนไขคำ /สถานการณ์ไว้เองมีเพียง 32 เรื่อง***** ไขสถานการณ์ที่เหลือนอกจากนี้คุณวิมลเป็นผู้เขียนเรียบเรียงด้วยตนเองจากความทรงจำ และจากการค้นคว้าเพิ่มเติมโดยอาศัยข้อมูลส่วนใหญ่จากปริญญานิพนธ์ของคุณสุจิรา คุปตารักษ์ ดังกล่าวข้างต้น การจัดพิมพ์ในครั้งนี้ สำนักพิมพ์อ่านจึงได้ระบุการอ้างอิงกำกับไว้ท้ายข้อความเพื่อแยกแยะให้ชัดเจน และเพื่อให้ผู้สนใจสามารถสืบค้นข้อมูลในรายละเอียดเพิ่มเติมโดยสะดวก
ทั้งนี้ สำนักพิมพ์อ่านขอชี้แจงเกี่ยวกับการจัดพิมพ์หนังสือและการชำระต้นฉบับในรายละเอียดเพิ่มเติม:
(ก) ต้นฉบับในการจัดพิมพ์ สำนักพิมพ์อ่านใช้ต้นร่างที่ได้รับมอบจากคุณวิมลมาลีในการจัดพิมพ์ กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม แต่เนื่องจากงานทั้งหมดครอบคลุมกาพย์กลอนถึง 338 เรื่อง จึงแบ่งหมวดหมู่เพื่อจัดพิมพ์เป็น 3 เล่ม ดังนี้
1. กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยามเล่ม 1 ครอบคลุมกาพย์กลอนจำนวน 100 เรื่องที่ตีพิมพ์ในระหว่าง พ.ศ. 2484 – 2490 ดังนี้
- หนังสือพิมพ์เอกชน (รายสัปดาห์) เดือนมกราคม2484 – มิถุนายน 2484 จำนวน 24 เรื่อง
- คอลัมน์ “อุทยานวรรณคดี” ในหนังสือพิมพ์นิกรวันอาทิจ เดือนกุมภาพันธ์ 2486 – กรกฎาคม 2487 จำนวน 4 เรื่อง และกาพย์กลอน 2 เรื่องที่ไม่พบข้อมูลการตีพิมพ์ครั้งแรก แต่เมื่อพิจารณาจากอักขรวิธีที่ใช้ พอจะอนุมานได้ว่าเป็นผลงานในระยะที่มีการเปลี่ยนแปลงวิธีสะกดคำในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงนำมารวมพิมพ์ไว้ในกลุ่มนี้
- คอลัมน์ “วรรณมาลา” ในหนังสือพิมพ์สยามนิกร (รายวัน) เดือนกรกฎาคม 2489 – พฤษภาคม 2490 จำนวน 43 เรื่อง
- คอลัมน์ “อักษราวลี” ในหนังสือพิมพ์สยามสมัย (รายสัปดาห์) เดือนพฤษภาคม – ธันวาคม 2490 จำนวน 27 เรื่อง
2. กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม เล่ม 2 ครอบคลุมกาพย์กลอนจำนวน 179 เรื่องที่ตีพิมพ์ในระหว่าง พ.ศ. 2491 – 2495 ดังนี้
- คอลัมน์ “อักษราวลี” ใน สยามสมัย (รายสัปดาห์) เดือนมกราคม 2491 – สิงหาคม 2495 จำนวน 166 เรื่อง
- คอลัมน์ “ปุษกริณี” ใน อักษรสาส์น (รายเดือน) เดือนเมษายน 2492 – กรกฎาคม 2493 จำนวน 13 เรื่อง
3. กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยามเล่ม 3 ครอบคลุมกาพย์กลอนจำนวน 49 เรื่อง ที่ตีพิมพ์ในระหว่าง พ.ศ. 2501 – 2502 ดังนี้
- คอลัมน์ “นายผีเขียน ‘อักษราวลี’” ในหนังสือพิมพ์ปิยมิตรวันจันทร์ พ.ศ. 2501 – 2502 จำนวน 40 เรื่อง
- หนังสือพิมพ์สยามนิกร พ.ศ. 2501 จำนวน 9 เรื่อง
ทั้งนี้กาพย์กลอนที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนตัวและกาพย์กลอนที่เขียนภายหลังจากปี 2502 ไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่คุณวิมลเตรียมต้นฉบับไว้ จึงขอแยกไปไว้ในหนังสือ ความงามของชีวิต โดย วิมล พลจันทร ซึ่งจะจัดพิมพ์ต่อไป
(ข) การชำระต้นฉบับ สำนักพิมพ์อ่านชำระต้นฉบับตามที่คุณวิมลรวบรวมและจัดทำต้นร่างไว้ แต่เราได้สอบทานต้นร่างซ้ำโดยเปรียบเทียบกับผลงานกาพย์กลอนของนายผีทั้งที่เป็นต้นฉบับลายมือ เอกสารอัดสำเนาและไมโครฟิล์มจากสิ่งพิมพ์ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกเท่าที่จะสืบค้นได้ รวมทั้งผลงานบางส่วนที่เคยจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มหนังสือก่อนหน้านี้ อาทิ กาพย์กลอนนายผี, รำลึกถึงนายผีจากป้าลม และ รำฤกถึงนายผีจากป้าลม รวมทั้งปริญญานิพนธ์เรื่อง “วิเคราะห์บทร้อยกรองของ ‘นายผี’” ของคุณสุจิราคุปตารักษ์
(ค) การอ้างอิงข้อมูลการตีพิมพ์ ระบุตามที่คุณวิมลได้รวบรวมไว้ในชั้นต้น แต่เราได้ตรวจสอบและเพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับวันเดือนปีที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเท่าที่สามารถทำได้เพื่อประโยชน์ในการค้นคว้าต่อไป ทั้งนี้จะเห็นว่ารายละเอียดการอ้างอิงอาจดูลักลั่นกันอยู่ กล่าวคือ บางรายการระบุข้อมูลการตีพิมพ์ครั้งแรกโดยละเอียด ทั้งชื่อสิ่งพิมพ์วันเดือนปีและเลขหน้า แต่บางรายการมีข้อมูลเพียงบางส่วน เนื่องจากในการสืบค้นเอกสารชั้นต้นในหอสมุดต่างๆ พบว่าบางส่วนอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลาและการดูแลรักษา และบางส่วนสูญหายไปหรือไม่ได้เก็บรวบรวมอยู่ในรายการจัดเก็บ เช่น เราพบต้นฉบับกาพย์กลอนนายผีในหนังสือพิมพ์ เอกชน ทั้งหมด ซึ่งมีจัดเก็บในรูปไมโครฟิล์มในหอสมุดแห่งชาติ แต่เนื่องจากเป็นเอกสารเก่าที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2484 จึงอ่านไม่ได้ชัดเจนครบถ้วน ส่วนกาพย์กลอนที่ตีพิมพ์ใน สยามนิกร เราตรวจสอบจากเอกสารอัดสำเนาเท่าที่คุณวิมลรวบรวมไว้ก่อนหน้านี้แล้วส่วนหนึ่ง และสอบทานกับปริญญานิพนธ์ “วิเคราะห์บทร้อยกรองของ ‘นายผี’” ของสุจิรา คุปตารักษ์ แต่ไม่สามารถจะสอบทานกับต้นฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกได้เนื่องจากไมโครฟิล์มของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ชำรุดเสียหายแล้ว เป็นต้น
ในส่วนสรุปสถานการณ์การเมืองสยาม รวมทั้งไขคำ/สถานการณ์ที่อยู่ท้ายกาพย์กลอนแต่ละเรื่อง สำนักพิมพ์อ่านได้จัดทำอ้างอิงเพิ่มเติมไว้ท้ายข้อความ เช่น [สุจิรา, น.xxx] หมายถึงข้อมูลที่มาจาก “วิเคราะห์บทร้อยกรองของ ‘นายผี’” ส่วนไขคำ /สถานการณ์ที่คุณวิมลเขียนเองจะมีวงเล็บ [วิมล พลจันทร] อยู่ท้ายข้อความ ไขคำ /สถานการณ์ที่ไม่มีวงเล็บระบุเป็นอย่างอื่น “นายผี” เป็นผู้เขียน
อย่างไรก็ดี เนื่องจากต้นฉบับลายมือของนายผีเป็นเอกสารเก่าและมีบางส่วนชำรุดแล้ว จึงได้ทำเครื่องหมาย [...] แสดงข้อความที่ไม่สามารถอ่านได้ไว้ด้วย
4. การใช้ภาษา การจัดพิมพ์ครั้งนี้คงการสะกดคำต่างๆ ไว้ตามต้นร่างเอกสารซึ่งได้พยายามสอบทานให้ตรงกับต้นฉบับลายมือและต้นฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกเพื่อรักษารูปแบบการใช้ภาษาของยุคสมัยไว้ตามหลักเกณฑ์ของบรรณาธิการผู้จัดทำต้นร่าง
นอกจากนั้น ในการจัดพิมพ์ครั้งนี้เรายังได้พยายามรักษาโครงสร้างวรรคตอนของกาพย์กลอนไว้ตามต้นฉบับการตีพิมพ์ครั้งแรกเท่าที่สืบค้นมาได้ แต่เนื่องจากกาพย์กลอนทั้งหมดตีพิมพ์อยู่ในสิ่งพิมพ์ต่างฉบับกัน และในช่วงเวลายาวนานตั้งแต่ พ.ศ. 2484-2502 โครงสร้างวรรคตอนในต้นฉบับจึงแตกต่างกันไป ไม่มีแบบแผนเด็ดขาด การจัดพิมพ์ในครั้งนี้จึงพิจารณาเรื่องนี้ประกอบกับรูปแบบการจัดหน้าหนังสือตามความเหมาะสมด้วย
การจัดพิมพ์ กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม ครั้งนี้ สำนักพิมพ์อ่านได้รับน้ำใจและความช่วยเหลืออย่างดีจากคุณชลิดา ทาเจริญศักดิ์, คุณไทเรล ฮาเบอร์คอร์ณ, คุณธิกานต์ ศรีนารา, คุณสมิทธิ์ ถนอมศาสนะ, คุณสรณ ขจรเดชกุล, คุณสุพจน์ แจ้งเร็ว และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณสุจิรา คุปตารักษ์ ผู้เขียนปริญญานิพนธ์เรื่อง “วิเคราะห์บทร้อยกรองของ ‘นายผี’” ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงสำคัญ จึงขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้
เอกสารต้นร่าง กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของคุณวิมลมาลี พลจันทร ซึ่งได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะมอบต้นร่างทั้งหมดพร้อมกับเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณอัศนีให้แก่หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเก็บรักษาและเผยแพร่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชนต่อไป
สำนักพิมพ์อ่านขอขอบคุณ คุณวิมลมาลี พลจันทร อย่างยิ่งที่ให้โอกาสเราได้แสดงความขอบคุณและคารวะต่อคุณอัศนีและคุณวิมล พลจันทร ผู้มีส่วนนำทางให้คนรุ่นหลังได้แสวงหา “ความคิดก้าวหน้า” ในการเปลี่ยนแปลงสังคม ความบกพร่องใดๆ ในการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ถือเป็นความรับผิดชอบของสำนักพิมพ์อ่าน

*****************************************************************************************

กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยามเล่ม 1 (พ.ศ. 2484-2490)
โดย นายผี
ราคา 220.-
สั่งซื้อได้ที่ www.tpnewsbook.com / ร้านทีพีนิวส์ ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว ชั้น 4 โทร. 085-5049944