จักรภพ เพ็ญแข - รายการจุดเปลียน "จัดกระบวนทัพประชาชน" 27 มีนาคม 2557

วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

“คำให้การเร้น” ในกฎหมายนิรโทษกรรม : รัฐประหารและสังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 ใน "อ่านย้อนยุค ธันวาคม2557"

“คำให้การเร้น” ในกฎหมายนิรโทษกรรม : รัฐประหารและสังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519

ไทเรล ฮาเบอร์คอร์ณ | เชิญอ่าน

ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 สิ่งที่ในเบื้องแรกเป็นการเรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยคนกลุ่มเล็กๆ ได้ขยายตัวต่อมาอย่างรวดเร็วในกรุงเทพฯและทั่วประเทศจนกลายเป็นการลุกฮือครั้งใหญ่ของนักศึกษาและประชาชนเพื่อต่อต้านระบอบเผด็จการที่ครองอำนาจมาตลอดหลายทศวรรษ นักศึกษาและประชาชนซึ่งได้รับเชื้อไฟจากงานการเมืองวัฒนธรรมต่อต้านเผด็จการมานานปี และได้รับการสนับสนุนจากสถาบันอำนาจในชั่วโมงสุดท้าย ในที่สุดก็สามารถจุดประกายไฟแห่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้สำเร็จ สามทรราช ถนอม กิตติขจร, ณรงค์ กิตติขจร และประภาส จารุเสถียร เดินทางออกจากประเทศ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราวจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง ในช่วงเวลาสามปี นับจากนั้น พื้นที่ทางการเมืองได้ขยายครอบคลุมผู้เล่นต่างๆ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยถูกเบียดให้อยู่ชายขอบ อีกทั้งการชุมนุมประท้วงทางสังคมและวัฒนธรรมก็เบ่งบานขึ้น กรรมกรหยุดงานประท้วงนายทุน ชาวนาเรียกร้องความเป็นธรรมจากเจ้าที่ดิน ปัญญาชนอ่าน เขียน และแปลงานเขียนฝ่ายซ้ายก้าวหน้า นักศึกษาเรียกร้องให้รัฐบาลตอบสนองต่อประชาชน และศิลปินก็ทดลองงานใน
รูปแบบและหัวข้อใหม่ๆ เพื่อรับใช้การต่อสู้ทางการเมือง

แต่การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งชี้ถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมและผลประโยชน์ทางวัตถุ กลับไม่ได้เป็นที่ตอบรับด้วยดีจากทุกฝ่าย นายทุนเจ้าที่ดิน พวกนิยมเจ้า ฝ่ายอนุรักษนิยม และอภิสิทธิ์ชนอื่นๆ มองการเคลื่อนไหวของนักศึกษา กรรมกร ชาวนา และกลุ่มต่างๆ ว่าเป็นอันตรายและจำเป็นต้องถูกปราบปราม จากความกลัวในตอนแรกกลายมาเป็นความตื่นตระหนกอย่างรุนแรง ฝ่ายขวาไม่เคยยอมรับความพ่ายแพ้อย่างจริงจังหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และตั้งแต่ปี 2518 ก็เริ่มมีการข่มขู่ คุกคามทำร้าย และลอบสังหารนักเคลื่อนไหวหัวก้าวหน้าฝ่ายซ้ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อถนอม กิตติขจร กลับเข้าประเทศไทยในวันที่ 19 กันยายน 2519 เพื่ออุปสมบท นักศึกษาตั้งข้อสงสัยว่าน่าจะเป็นการเอาศาสนามาบังหน้า พวกเขาจึงเริ่มชุมนุมประท้วงต่อต้านเพราะเห็นว่านี่เป็นสัญญาณอันตรายของความเป็นไปได้ที่ระบอบเผด็จการจะหวนคืน นักเคลื่อนไหวด้านแรงงานสองคนถูกฆ่าแขวนคอในจังหวัดนครปฐมเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2519 ขณะกำลังติดป้ายประท้วงการ
กลับมาของถนอม นักศึกษาสงสัยว่าเป็นฝีมือของตำรวจ นักศึกษาสี่ถึงห้าพันคนปักหลักชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในวันที่ 4 ตุลาคม พวกเขาแสดงละครล้อเลียนโดยจำลองการแขวนคอดังกล่าวเพื่อวิพากษ์วิจารณ์การใช้ความรุนแรงของตำรวจ


ด้วยแรงกระตุ้นจากความกลัวในยุคสงครามเย็นที่ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเวียดนาม ลาว และกัมพูชากลายเป็นคอมมิวนิสต์ในปี 2518 ฝ่ายขวาทั้งที่อยู่ในรัฐและนอกรัฐ เริ่มต้นวิพากษ์วิจารณ์นักศึกษา และต่อมาก็เรียกร้องอย่างเปิดเผยให้มีการปราบปราม ในวันที่ 5 ตุลาคม ดาวสยาม หนังสือพิมพ์ปีกขวา รายงานว่าการแสดงละครล้อเลียนของนักศึกษาเป็นการแสดงการแขวนคอหุ่นเหมือนเจ้าฟ้าชายและนักศึกษาต้องการล้มล้างสถาบันกษัตริย์ ฝ่ายขวาแจกจ่ายภาพและข่าวดังกล่าวออกไป นักศึกษาถูกกล่าวหาว่าเป็นญวน จีน และ/หรือคอมมิวนิสต์ ซึ่งล้วนหมายถึงการไม่ใช่คนไทยและเป็นภัยคุกคาม ในวันที่ 5 และ 6 ตุลาคม ข้อกล่าวหาเหล่านี้ถูกโหมกระพือหนักขึ้นและวิทยุของทหารก็ปลุกระดมให้คนออกมาต่อต้านนักศึกษาต่างด้าวเหล่านั้นที่ชุมนุมอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การปลุกระดมส่งผลให้เกิดความรุนแรงขึ้นในเวลาตีสองเศษของเช้าวันที่ 6 ตุลาคม นักศึกษาและผู้ชุมนุมที่ปราศจากอาวุธในธรรมศาสตร์ถูกทำร้าย ทุบตี แขวนคอ และเข่นฆ่าโดยฝูงชนจัดตั้งอันบ้าคลั่งที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่รัฐและอันธพาลการเมืองที่จัดตั้งโดยรัฐ เย็นวันนั้นคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ประกาศว่าได้ทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของเสนีย์ ปราโมช คณะปฏิรูปฯรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 46 คน บาดเจ็บ 180 คน และถูกจับกุม 3,059 คนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้ตัวเลขที่ไม่เป็นทางการจะสูงกว่านี้ก็ตาม คนที่ถูกจับคือคนที่รอดชีวิตจากการสังหารหมู่ ไม่มีการจับกุมผู้ลงมือทำร้ายและฆ่านักศึกษาและผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 38 ปีต่อมาบรรดาผู้กระทำผิดยังคงลอยนวล ไม่เคยมีการสืบสวนของรัฐเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนั้น มิพักต้องพูดถึงการหาตัวคนมารับผิดต่อเหตุการณ์ดังกล่าว การลอยนวลเช่นนี้เป็นทั้งเหตุและผลของสิ่งที่ธงชัย วินิจจะกูล เรียกว่าเป็นความเงียบ ความอิหลักอิเหลื่อ และความคลุมเครือเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้สำหรับทั้งผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์และสังคมไทย

ไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่เจ้าหน้าที่รัฐและพลเรือนผู้สมรู้ร่วมคิดจะลอยนวลจากการฆาตกรรมในเหตุการณ์ 6 ตุลา หากดูเพียงแค่ภายในช่วงเวลาสามปีจาก 14 ตุลา 2516 ถึง 6 ตุลา 2519 โดยไม่ต้องนับรวมช่วงก่อนหน้าหรือหลังจากนั้น การไม่ต้องรับผิด (impunity) เป็นบรรทัดฐานที่ได้รับการสถาปนาอย่างมั่นคงสำหรับการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ การไม่ต้องรับผิดในกรณีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีความน่าสนใจตรงที่ร่องรอยและหลักฐานของตัวเหตุการณ์ยังหลงเหลืออยู่ในตัวบทกฎหมายและบันทึกที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการร่างและผ่านกฎหมาย ในช่วงเวลาสองปีหลังเหตุการณ์ มีการประกาศใช้กฎหมายนิรโทษกรรมสองฉบับเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว ฉบับแรกคือ “พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519” ถูกประกาศใช้โดยสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2519 ฉบับที่สอง “พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519” ผ่านออกมาเป็นกฎหมายโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวันที่ 15 กันยายน 2521 กฎหมายทั้งสองฉบับไม่มีการกล่าวถึงเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษา ความตายของนักศึกษา ไม่มีแม้กระทั่งการระบุว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองอย่างเผินๆ กฎหมายฉบับแรกดูเหมือนจะเป็นกฎหมายนิรโทษกรรมธรรมดาสำหรับการก่อการรัฐประหารของคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่สองดูเหมือนจะเป็นกฎหมายนิรโทษกรรมที่ออกมาเพื่อยุติการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้ง 18 คนที่เป็นนักศึกษาและนักเคลื่อนไหว ซึ่งรอดชีวิตจากการสังหารหมู่แต่ถูกดำเนินคดีในข้อหาร้ายแรง เช่น กบฏ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และมีการกระทำเป็นคอมมิวนิสต์ กระนั้นกฎหมายนิรโทษกรรมทั้งสองฉบับก็ครอบคลุมเกินวัตถุประสงค์ตามที่ระบุไว้ นั่นคือ ครอบคลุมไปถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ด้วย ไม่มีการกล่าวโดยตรงถึงเหตุการณ์สังหารหมู่หรือการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่จากการศึกษาเอกสารต่างๆ ของฝ่ายรัฐที่เกี่ยวข้องกับการร่างและผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับแรก ผนวกกับการอ่านแกะรอยเอกสารที่มีอยู่น้อยลงไปอีกเกี่ยวกับกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับที่สองบ่งบอกว่า เหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งในความนึกคิดของผู้ที่อยู่เบื้องหลังกฎหมายทั้งสองฉบับ ดังนั้นแล้ว การไม่เอ่ยถึงในที่นี้จึงกลับสะท้อนอย่างแจ่มชัดถึงการมีอยู่ของสิ่งที่ไม่ถูกเอ่ยถึง กฎหมายฉบับแรกป้องกันไม่ให้ฆาตกรและผู้ก่อการรัฐประหารต้องรับผิดใดๆ ด้วยการใช้ภาษาอย่างระมัดระวัง กฎหมายฉบับที่สองโยนความผิดให้แก่เหยื่อและผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงด้วยการให้อภัยต่อความผิดที่ไม่ได้กระทำ สิ่งที่กฎหมายทั้งสองฉบับมีร่วมกันคือการอ้างว่าเป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อให้บังเกิดความผาสุกแก่ประชาชนชาวไทยและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติ เมื่อผนวกเข้าด้วยกัน กฎหมายสองฉบับนี้บันดาลและบังคับการให้ไม่ต้องมีการรับผิดใดๆต่อการทำรัฐประหารและการสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า

ไม่ถึงหนึ่งปีหลังเหตุการณ์สังหารหมู่และการรัฐประหาร เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน เขียนวิจารณ์บรรดานักสังเกตการณ์ที่มักอ้างว่าประเทศไทยมีการรัฐประหารบ่อยครั้งอยู่แล้วและมองรัฐประหารครั้งนี้ว่าเป็นเรื่องปกติหรือเป็นธรรมดา ทั้งนี้ แอนเดอร์สันกลับมองว่าเหตุการณ์สังหารหมู่และการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ถือเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์เนื่องจากเหตุการณ์นี้ “ไม่ใช่การจู่โจมอย่างปุบปับภายในหมู่ชนชั้นนำ หากแต่เป็นผลรวบยอดของการดำเนินการในระยะเวลาสองปีของฝ่ายขวาในการข่มขู่คุกคาม ทำร้าย และลอบสังหารอย่างเปิดเผย ซึ่งเห็นภาพได้ชัดเจนที่สุดจากการใช้ความรุนแรงของฝูงชนที่มีการจัดแจงเตรียมการไว้ก่อนในเหตุการณ์ 6 ตุลา” ไม่เพียงแต่ความรุนแรงจะกระทำโดยเปิดเผยต่อสาธารณะเท่านั้น แต่ด้วยกระบวนการร่าง อภิปราย และผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมสองฉบับนี้ รวมถึงการลอยนวลจากความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ก็ล้วนกลายเป็นสาธารณะเช่นกัน ขณะที่กฎหมายสองฉบับนี้เป็นตัวอย่างชั้นดีที่แสดงถึงกระบวนการทางกฎหมายที่ละเอียดประณีตและเปิดเผยต่อสาธารณะในการทำให้เกิดการไม่ต้องรับผิด มันยังสะท้อนแง่มุมหนึ่งของรูปแบบทั่วไปของความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองในประเทศไทยอีกด้วย ผู้กระทำผิดที่เป็นฝ่ายรัฐจะไม่ถูกนำตัวมารับผิดต่อการใช้ความรุนแรงต่อพลเมือง และหากพลเมืองหาญกล้าออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม ผลอย่างมากที่สุดที่พวกเขาจะได้ก็คือความไม่เป็นธรรมดังกล่าวจะไม่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากไปกว่าที่พวกเขาเคยประสบมา

บทความนี้เป็นการเสนอความเห็นต่อการกำเนิดขึ้นของการไม่ต้องรับผิดต่อการสังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 และด้วยเหตุที่ผู้เขียนศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งทางกฎหมาย เอกสารสาธารณะและเอกสารเฉพาะเรื่องมาโดยละเอียด จึงจะขอเสนอข้อคิดเห็นในประเด็นเกี่ยวกับบทบาทในภาพกว้างของการไม่ต้องรับผิดในประเทศไทยและการเขียนประวัติศาสตร์ของการไม่ต้องรับผิดไปด้วยในคราวเดียวกัน ทั้งนี้ ในแหล่งเก็บรวบรวมเอกสารของรัฐ (อย่างน้อยก็ในส่วนที่เปิดต่อสาธารณะ) แทบจะไม่มีการให้แหล่งอ้างอิงใดซึ่งผู้ใช้ความรุนแรงได้ระบุไว้ถึงการกระทำของตน รวมถึงความประสงค์ของตนที่จะปิดบังการกระทำเหล่านั้นเพื่อรักษาอำนาจและหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ ในประเทศไทย การอ่านเอกสารในแหล่งเอกสารของรัฐและแหล่งอื่นๆ ที่มีอยู่นั้นจะต้องอาศัยอ่านระหว่างบรรทัด ซึ่งหมายถึงต้องให้ความสนใจกับสิ่งที่ไม่ปรากฏ ช่องว่าง ใจความที่ขัดแย้งกัน และการเผยความออกมาอย่างไม่คาดหมาย ในงานเขียน “The Prose of Counter-Insurgency” รณชิต คุหะ ได้ลำดับไว้ถึงกลยุทธ์ในการอ่านเอกสารอาณานิคมในอินเดียอย่างที่เป็นการอ่านระหว่างบรรทัด เพื่อค้นหาเสียงของชาวบ้านที่เห็นต่างจากรัฐ และหาหลักฐานของความเห็นต่างและการต่อต้านขัดขืน นี่คือสิ่งที่ เจมส์ สก็อตต์ เรียกในเวลาต่อมาว่า “คำให้การเร้น” (“hidden transcript”) ที่ดำรงอยู่กระทั่งในสิ่งที่ดูเหมือนเป็นคำบอกเล่าภายใต้การครอบงำอย่างเบ็ดเสร็จเหนือข้าไพร่ชายขอบ ในกรณีเช่นนี้จำเป็นต้องอาศัยการอ่านระหว่างบรรทัดของเอกสารเหล่านั้นของรัฐ เพื่อค้นหาตัวบทที่ซ่อนเร้น ซึ่งแตกต่างไปจากตัวบทเดิม นั่นคือสิ่งบ่งชี้ถึงการสมรู้ร่วมคิดและการมีส่วนร่วมในความรุนแรง ความวิตกกังวล และการหลบเลี่ยงความรับผิดชอบของรัฐ


*********************************************************************************
www.jakrapob.com

*********************************************************************************
ข่าวสั้นผ่านมือถือสำหรับคนรักประชาธิปไตย เที่ยงตรง แม่นยำ ไม่ใส่ร้าย บิดเบือน ส่งตรงถึงมือถือของท่านทุกวัน ควบคุมโดย คุณจักรภพ เพ็ญแข สมัครง่ายๆ ระบบ AIS เพียงกด *455240415 แล้วโทรออก, ระบบ DTAC กด *45521460141 แล้วโทรออก, ระบบ TRUE เข้าเมนูเขียนข้อความ พิมพ์ r pn กดส่งมาที่เบอร์ 4552404 ราคาเพียง 29 บาท / เดือน พิเศษ สมัครวันนี้ใช้ฟรี 14 วัน

วันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

อ่านย้อนยุค ธันวาคม 2557



อ่านย้อนยุค ธันวาคม 2557

มันลืม
ไอดา | DEAR READer
ประโลมโลกเผด็จการ : ตำนาน “สุวัฒน์ วรดิลก”
ไอดา | อ่านยุคมืด
หล่อนชื่อหฤทัย ใน เขาชื่อกานต์
อ่านใหม่ | ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์
ความงามของชีวิต
อ่านนายผี | เนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์
อ่าน รามเกียรติ์ : สงสัย ทศกัณฐ์กินข้าวกับอะไร?
ปรามินทร์ เครือทอง | อ่านย้อนเกร็ด
สุภา ศิริมานนท์ กับ “ศิลปะภายใต้ระบอบเผด็จการฟาสซิสม์”
นพนิต จิว | เชิญอ่าน
ผู้หญิงศิวิไลซ์ : ม.ล. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ และศตวรรษที่ 20 ของไทย
ทักษ์ เฉลิมเตียรณ | เชิญอ่าน
“ทำลายเผด็จการ พิทักษ์ประชาธิปไตย” : จุดยืนของ พคท. ในหนังสือพิมพ์ มหาชน ท่ามกลาง ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างปี 2490-2491
เชิญอ่าน | ธิกานต์ ศรีนารา
“คำให้การเร้น” ในกฎหมายนิรโทษกรรม : รัฐประหารและสังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519
ไทเรล ฮาเบอร์คอร์ณ | เชิญอ่าน
ลัทธิสมานฉันท์นิยม กับ เค้าโครงการเศรษฐกิจ ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม
ภาคภูมิ แสงกนกกุล | เชิญอ่าน
เพลงแดงและเพลงเหลือง: การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ ว่าด้วยการใช้ดนตรีของ นปช. และพันธมิตรฯ
เจมส์ มิตเชลล์ | เชิญอ่าน
ไกลจากความอึงอล
ไชยันต์ รัชชกูล | เชิญอ่าน
เราพบกันใหม่ในความมืด และแสวงหาแสงริบหรี่แห่งความหวังด้วยกัน : ข้อสังเกตเกี่ยวกับ “ผู้อื่น” และ “อนาคต” จากเรื่องสั้น “แสงสลาย” ของ ปราบดา หยุ่น”
โช ฟุกุโตมิ | เชิญอ่าน
นาฏกรรมสามสี (2)
สายัณห์ แดงกลม | Arte

ราคาเล่มละ 280.-
จำหน่ายที่ร้านจักรภพ (ทีพีนิวส์) ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว ชั้น 5 โทร. 085-5049944
www.jakrapob.com

*****************************************************************************

วันศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

"วัฒน์ วรรลยางกูร" นักเขียนรางวัลศรีบูรพา



"วัฒน์ วรรยางกูร"

เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ที่ตำบลตะลุง อำเภอเมือง ลพบุรี เป็นบุตรคนเดียวของนายวิรัตน์ และนางบุญส่ง วรรลยางกูร แต่ยังไม่ทันโตจำความได้ บิดามารดาก็หย่าร้างกัน มารดาจึงพาไปอยู่บ้านเดิมที่จังหวัดปทุมธานี พ.ศ.๒๕๐๕ เข้าเรียนชั้นประถมปีที่ ๑ ที่โรงเรียนประชาบาลวัดดาวเรือง ปทุมธานี เมื่อเรียนจบชั้นประถมปีที่ ๔ บิดาได้ติดต่อขออุปการะจึงพากลับไปอยู่ลพบุรีอีกครั้งหนึ่ง

พ.ศ.๒๕๐๘ เข้าเรียนชั้นประถมปีที่ ๕ อยู่กับย่าที่บ้านสวน ริมแม่น้ำลพบุรี ศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนวินิตศึกษา พ.ศ. ๒๕๑๔ เข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย จังหวัดลพบุรี โดยไปเป็นเด็กวัดอยู่ในเมืองลพบุรี สอบตกชั้นม.ศ.๕ เพราะกำลังเริ่มสนใจการประพันธ์อย่างจริงจัง จนต้องเรียนซ้ำชั้น แต่สอบเทียบได้จึงเลิกเรียนและเข้ากรุงเทพฯ ต้นปี พ.ศ. ๒๕๑๗ สมัครเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่เรียนอยู่เพียง ๒ เดือน ก็เลิกเรียน

ในด้านการประพันธ์ เนื่องจากมีโอกาสอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก เพราะใกล้ชิดคุณตาที่ชอบอ่านหนังสือมวยซึ่งมีนวนิยายด้วย ส่วนบิดาอ่านนิตยสารคุณหญิงที่มีคอลัมน์ “แวดวงกวี” เมื่อเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ ๗ จึงเริ่มเขียนกลอนรักให้เพื่อนนักเรียนหญิง ต่อมาได้ออกหนังสือเพื่ออ่านกันในห้องเรียน เป็นหนังสือเขียนด้วยลายมือโดยเป็นผู้เขียนบทบรรณาธิการบริหาร อีกทั้งยังได้เขียนเรื่องสั้นไปลงในหนังสือโรเนียวของโรงเรียนที่ครูมีส่วนร่วมจัดทำขึ้น ใช้นามปากกา “วัฒนู บ้านทุ่ง” พร้อม ๆกันนั้นได้ส่งผลงานทั้งกลอนและเรื่องสั้นไปยังนิตยสารชัยพฤกษ์ ฟ้าเมืองไทย ฯลฯ

แม้ระยะแรกไม่ได้ลงพิมพ์ แต่ก็ยังเขียนให้เพื่อน ๆอ่าน จนในที่สุด เรื่องสั้นชื่อ “คนหากิน”ได้ลงพิมพ์เป็นครั้งแรกในหนังสือ ยานเกราะ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ หลังจากส่งไปให้พิจารณาทั้งหมด ๔ เรื่อง และแม้ว่าบรรณาธิการจะแก้ไขมากมาย แต่ก็ทำให้มีกำลังใจเพิ่มขึ้น จากนั้นไม่นาน ผลงานกลอนที่ส่งไปประกวดได้ลงพิมพ์ในนิตยสาร ชัยพฤกษ์ และเรื่องสั้นชื่อ “มุมหนึ่งของเมืองไทย”ได้ลงพิมพ์ใน “เขาเริ่มต้นที่นี่”ของนิตยสาร ฟ้าเมืองไทย ที่มีอาจินต์ ปัญจพรรค์ เป็นบรรณาธิการ ขณะนั้นเป็นช่วงปิดภาคเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๒

หลังจากนั้น มีผลงานกลอนและเรื่องสั้นเผยแพร่ตามนิตยสารต่าง ๆมากขึ้น เช่น ฟ้าเมืองไทย ชาวกรุง ลลนา ฯลฯ ในนาม “วัฒน์ วรรลยางกูร” (ชื่อเดิม “วีรวัฒน์” ต่อมาเมื่อนามปากกาเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ประกอบกับมีปัญหาเรื่องการเบิกค่าเรื่องจึงแก้ไขชื่อในบัตรประชาชน) ระหว่างที่เรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้มีโอกาสคลุกคลีกับมิตรสหายในแผนกวรรณศิลป์ ได้รู้จักกับนักเขียนนักกิจกรรมหลายคน และได้รับคำแนะนำให้ไปทำหนังสือพิมพ์อธิปัตย์ ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๗ จึงได้ฝึกฝนเขียนข่าว บทความ สารคดี เรื่องสั้นและนวนิยายเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะได้เขียนคอลัมน์ประจำชื่อ “ช่อมะกอก” ใช้นามปากกา “ชื่นชอบ ชายบ่าด้าน”ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นเรื่องชุดในชื่อ “ตำบลช่อมะกอก”และกลายเป็นนวนิยายเรื่อง “ตำบลช่อมะกอก”ในที่สุด รวมทั้งมีผลงานรวมเรื่องสั้นและบทกวีพิมพ์ต่อเนื่องมาอีก ๒ เล่มคือ “นกพิราบสีขาว”(พ.ศ.๒๕๑๘)และ “กลั่นจากสายเลือด”(พ.ศ.๒๕๑๙) ทำให้ชื่อเสียงของวัฒน์ วรรลยางกูร เป็นที่รู้จักของคนหนุ่มสาวที่เติบโตทางด้านความคิดในยุคสมัยดอกไม้บานร้อยดอก ( ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖-๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ )อย่างกว้างขวาง

เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ รุนแรงมาก นักศึกษาที่ชุมนุมอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกทำร้ายอย่างโหดเหี้ยม วัฒน์ วรรลยางกูร จึงต้องหนีภัยการเมืองเข้าไปอยู่ในป่า ในช่วงนั้นได้มีโอกาสเขียนเรื่องสั้น บทกวี และนวนิยายมากมาย และมีผลงานรวมเล่มออกมา ๓ เล่มคือ รวมเรื่องสั้นและบทกวี ๒ เล่ม คือ “ข้าวแค้น” (พ.ศ.๒๕๒๒) กับ “น้ำผึ้งไพร”(พ.ศ.๒๕๒๓) ส่วนเล่มที่ ๓ เป็นนวนิยายชื่อ “ด้วยรักแห่งอุดมการณ์” (พ.ศ.๒๕๒๔)

พ.ศ.๒๕๒๔ หลังจากสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลง วัฒน์ได้กลับคืนสู้เหย้ามาใช้ชีวิตนักเขียน โดยเริ่มต้นที่การประจำทำงานหนังสือพิมพ์มาตุภูมิ ไฮคลาส และถนนหนังสือ หลังจากทำได้ประมาณ ๑ ปีก็ลาออกมาเป็นนักเขียนอิสระเต็มตัว เขียนนวนิยายเรื่อง “คือรักและหวัง” และ “จิ้งหรีดกับดวงดาว” ตีพิมพ์ในนิตยสารลลนา รายปักษ์ เรื่อง“บนเส้นลวด” ตีพิมพ์ในนิตยสารสตรีสาร รายสัปดาห์ เรื่อง “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ตีพิมพ์ในบางกอก เรื่อง “เทวีกองขยะ” ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ เป็นต้น หลังจากตีพิมพ์ในนิตยสารแล้ว เรื่องเหล่านั้นก็ยังได้รวมเล่มอีกหลายครั้งในโอกาสต่อมา นอกจากนี้ ยังมีผลงานเรื่องสั้น สารคดี และบทสัมภาษณ์ตีพิมพ์ในนิตยสารต่าง ๆอีกมาก

เรื่องสั้นชื่อ ความฝันวันประหาร ได้รับการเลือกสรรจากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ให้เป็นเรื่องสั้นดีเด่น ประจำปี ๒๕๒๕

หลังจากใช้ชีวิตนักเขียนและช่วยงานนิตยสารหลายฉบับ ได้ไปทำธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้างกับภรรยาที่จังหวัดกาญจนบุรีอยู่ระยะหนึ่ง และวนเวียนกลับไปทำงานนิตยสารอีกครั้งหนึ่ง เป็นคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน เป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสาร Good Life เป็นต้น และเนื่องจากเคยแต่งเพลงให้คนอื่นร้องไว้หลายเพลง จึงทดลองแต่งและเป็นนักร้องออกเทปเพลงของตนเองไว้หลายชุด แต่ก็ยังคงยึดงานประพันธ์เรื่องสั้น นวนิยาย บทกวี สารคดี และอื่น ๆเป็นหลักเรื่อยมา
ทุกวันนี้ วัฒน์ วรรลยางกูร ยังผลิตงานสร้างสรรค์ทุกประเภท เขียนคอลัมน์เดือนละ 10 กว่าชิ้น ให้แก่ หนังสือพิมพ์ข่าวสด, นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์, หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก, MARS รายเดือน, ALL MAGAZINE ฯลฯ

ผลงาน

รวมเรื่องสั้น
นกพิราบสีขาว (๒๕๑๘) เมื่อพิมพ์ครั้งที่สอง เปลี่ยนชื่อเป็น ความหวังเมื่อเก้านาฬิกา (๒๕๒๓)
กลั่นจากสายเลือด (๒๕๑๙)
ข้าวแค้น (๒๕๒๒)
น้ำผึ้งไพร (๒๕๒๓)
ใต้เงาปืน
งูกินนา (๒๕๒๙)
นครแห่งดวงดาว
ฝุ่นรอฝน (๒๕๒๖)
ลูกพ่อคนหนึ่ง(ถากไม้เหมือนหมาเลีย)
กลับมาเมื่อฟ้าค่ำ (๒๕๒๔)
เรื่องเล่าอันพร่าเลือน (๒๕๓๒)
รถไฟสังกะสี ขบวนหนึ่ง ๒๕๑๓-๒๕๒๓ (๒๕๓๒)
รถไฟสังกะสี ขบวนสอง ๒๕๒๔-๒๕๒๘ (๒๕๓๓)
นิยายของยาย (รวมเรื่องสั้นชุดจบในตอน ๒๕๓๖)
สู่เสรี(๒๕๓๙)
ปลาหมอตายเพราะไม่หายใจ (๒๕๔๙)

นวนิยาย
ตำบลช่อมะกอก (๒๕๑๙) โครงการรู้จักเพื่อนบ้านของมูลนิธิโตโยต้า ได้คัดเลือกไปแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นด้วย
ด้วยรักแห่งอุดมการณ์ (๒๕๒๔)
คือรักและหวัง (๒๕๒๕)
บนเส้นลวด(๒๕๒๕)
จิ้งหรีดกับดวงดาว (๒๕๓๑)
มนต์รักทรานซิสเตอร์ (๒๕๒๔)
เทวีกองขยะ (๒๕๓๘)
ปลายนาฟ้าเขียว (๒๕๓๒)
ฉากและชีวิต (๒๕๓๙)
สิงห์สาโท (๒๕๔๓)
The pickup ขับชีวิตสุดขอบฟ้า (๒๕๔๘)
บทกวี เทปเพลง
ฝันให้ไกลไปให้ถึง (๒๕๒๓) (ใช้ชื่อ “รอยสัก” ๒๕๒๘) แรงบันดาลใจ (๒๕๓๗)
เงาไม้ลายรวง (๒๕๓๔) ชุดไม่ขาย (๒๕๓๙)
กระท่อมเสรีภาพ (๒๕๓๘) ดินสอโดมธรรมศาสตร์เด่นสู้ศึก (๒๕๔๔)
เสน่หาป่าเขา (๒๕๓๘)

สารคดี
คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน (๒๕๔๑)
ไขแสง สุกใส ลูกผู้ชายหัวใจไม่ผูกเชือก (๒๕๔๓)
ป่าเหนือเมื่อดอกไม้บาน (๒๕๔๓,๒๕๔๔)
หอมดินเคล้ากลิ่นไอฝน (๒๕๔๔)
นิราศ A 30 ท่องป่าเหนือสุดแดนลาวชมสาวหลวงพระบาง (๒๕๔๖)
ภูมิปัญญาที่ดื่มได้ (๒๕๔๖)
บุญเลิศ ช้างใหญ่ คนดีที่กล้าหาญ (๒๕๔๗)
ความเรียง และสาระนิยาย
เสียงเต้นของหัวใจ (๒๕๓๗)
แรมทางกลางฝุ่น:สาระนิยายชีวิตและความผูกพันหลังพวงมาลัย (๒๕๓๙)

ผลงานเล่มล่าสุด : กวีปราบกบฏ (๒๕๕๘)



*********************************************************************************
www.jakrapob.com
ร้านหนังสือจักรภพ (ทีพีนิวส์) โทร. 085-5049944

วันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

"กวีปราบกบฏ" หนังสือใหม่ของ "วัฒน์ วรรลยางกูร"


ปกหน้า

คำนิยมของ จักรภพ เพ็ญแข


ผมเห็นความคล้ายคลึงบางอย่างระหว่าง วัฒน์ วรรลยางกูร กับ ทักษิณ ชินวัตร

ไม่ใช่ในฐานะทางการเงินที่ออกจะแตกต่างกัน ไม่ใช่ความสนใจทางการเมืองในระบบเลือกตั้งที่คนหนึ่งกลายเป็นนักการเมืองอาชีพและอีกคนหนึ่งคงความเป็นนักเขียนและกวีอาชีพตราบจนปัจจุบัน ไม่ใช่ในการต่อสู้ทางการเมืองในช่วงปี พ.ศ.๒๕๑๙ ทั้งก่อน ระหว่าง และหลัง ที่คนหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่อีกคนหนึ่งหลบเข้าไปศึกษาวิชาปฏิวัติต่อเนื่องในป่าสูง หากแต่คือความเป็นมนุษย์นอกระบบอุปถัมภ์ ซึ่งทำให้คนหนึ่งนำชาติมาคืนสู่ประชาชนผ่านนโยบายต่างๆ อันยังประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีอำนาจต่อรองน้อยที่สุด โดยไม่ครั่นคร้ามต่อเจ้าพ่อมาเฟียและระบอบมาเฟียที่เลื่้อยคลานขวางอยู่ และอีกคนหนึ่งก็เขียนงานนิพนธ์อันต่อเนื่องมาจากปริญญาแห่งป่าเขา โดยไม่หันหาหนทางอันง่ายกว่า สะดวกกว่า และเห็นแก่ตัวยิ่งกว่า จนทำให้ฉายภาพวงในและสังคมพิกลพิการของไทยได้แจ่มชัด ทั้งที่คนทั้งสองต่างก็ไม่รู้จักกัน นี่เป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งว่า คนไทยผู้ไม่ตอแหลสามารถเคลื่อนพลมารวมกันได้โดยไม่ต้องนัดหมาย เพื่อฟาดฟันกับระบอบตอแหลแห่งชาติที่คอยบีบบังคับคนไทยให้ท่องคาถาไตรสรณคมน์ทางการเมือง ราวกับว่าสังคมไทยไหลอยู่ในกระแสเดียว...  

“...ผักตบกระจับน้อยลอยตามแหน 
ตามกระแสวูบคล้อยลอยถลา
ถลำหันถลันหวนลอยทวนมา  
หวั่นไหวว้า วกว้าง หว่างเวียนวน
กลางกระแสสายนทีมีหินผา  
เต็มอุราต้านรับแรงสับสน
กี่กระแสเปลี่ยนผ่านพิการพิกล  
หินแกร่งทนแน่นหนักหลักศิลา
ศึกกระแสแห่หามน้ำเชี่ยวหลาก 
คอยดึงลากไร้หลักจักผวา
เมื่อปักหลักแน่นตรึงย่อมถึงครา 
กระแสว้าวุ่นเวียนเปลี่ยนทิศพลัน
ผักตบขยะสวะจอกแหน  
ลอยเป็นแพจักไปทางไหนนั่น
กระแสเผด็จการสู่ทางตัน  
พ่ายกระแสสร้างสรรค์ประชาธิปไตย”



ปกหลัง


วัฒน์ วรรลยางกูร เลือกสู้ในขบวนประชาธิปไตยมาตั้งแต่บัดนั้นจนกระทั่งบัดนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่เขากลายมาเป็นวรรณศิลปินที่ยังเลือกอยู่ข้างประชาชน ทั้งที่ข้างตัวเหลือบประเทศนั้น เขาเอื้ออำนวยทุกอย่างให้ได้มากกว่า จนเราเห็นศิลปินทั้งจริงและปลอมมากมาย ไหลเลื้อยกันไปเป็นขี้ข้าม้าครอกของเหลือบอย่างชนิดกลัวตกรถ เขาเป็นศิลปินที่เลือกแล้วว่าจะไม่อยู่บ้านพ่อหรือบ้านใครทั้งนั้น แต่จะอยู่ บ้านกู เพียงสถานเดียว เวลาได้พิสูจน์แล้วว่า วัฒน์ วรรลยางกูร คิดอย่างไร ทำอะไร และจะทำอะไรต่อไป...

“...นกเป็นน้ำเนืองนองแนบน่านน้ำ 
รำวารีลอยเร่เหินเวหน
บัวบานเรียงรายเรียบชายชล  
ดวงกมลสีชมพูดูตื่นตา
สุดขอบฟ้าฝั่งฝันเจ้าฝันใฝ่  
ฝันให้ไกลสุดแรงแสวงหา
ดอกโสนเหลืองพรายที่ปลายนา 
ยังรอท่าคัดเค้าเจ้าคิดคืน
ว่าลุ่มน้ำลุ่มนี้ที่พำนัก  
เป็นที่รักที่หวังถึงวันชื่น
วันนี้กลางวันเป็นกลางคืน  
ตะไคร่ยังขมขื่นยังเขียวคาว
กลางวันจะเป็นกลางวันวันไหน 
หรือเป็นเพียงฝันไกลในคืนหนาว
ฟากฟ้าฝั่งฝันอันเหยียดดาว  
จะล่องเรือไปช้อนดาวได้เมื่อใด
ลุ่มน้ำวันนี้ยังนองน้ำ  
ยังชุ่มฉ่ำผักปลานาน้ำใส
อันสายธารขุ่นข้องหมองใจ  
มันไหลลึกลึกในอุรา...”

เขาเลือกแนวทางต่อสู้ที่เขาถนัด นั่นคือแนวรบทางศิลปะและวัฒนธรรม เราดีใจที่เขาเลือกเช่นนี้ เพราะเรากำลังทำสงครามทางความคิด ความเชื่อ และจิตใจ เรากำลังทำการรบกับความอ่อนแรงและยอมรับเสียแล้วต่อสภาพความเส็งเคร็งของสังคมไทย เนื่องจากถูกกระทำชำเรามานานหนักหนาจนเผลอไปว่าเขารัก วัฒน์ วรรลยางกูร มีความสำคัญมานานแล้วในแนวรบนี้ ดั่งที่ปรากฎในหน้าหนังสือเล่มนี้กับทุกตัวอักษร และจักมีความสำคัญยิ่งขึ้นไป โดยเฉพาะเมื่อสังคมไทยตาสว่างโล่งแจ้ง แต่ยังขาดแผนที่เดินทางอย่างขณะนี้...

“...ชาวนาเลี้ยงเป็ดมีไข่เป็ด  
ไม่มีเพชรทองคำเลอล้ำค่า
ไม่มีรางวี่รางวัลอันโอฬาร์  
อันเสริมสร้างศักดินากวีเลิศลอย
หวังว่ากวีย่อมเป็นกวี  
ปากกามีเขียนชัดถนัดถ้อย
เลิกเพ้อฝันลอยหรูอยู่หอคอย  
ประดิดประดอยถ้อยคำทำเล่นลวง
หวังว่ากวียังรักเราหมู่ชาวนา  
คนรากหญ้ารักกวีมิต้องห่วง
เพียงไข่เป็ดจากใจไม่เปล่ากลวง 
เลิกติดบ่วงทรราชขาดเสรี...”

เราพัฒนาประชาธิปไตยเมืองไทยต่อจากยุคสมัยที่เรียกกันว่า ขบวนการคนตุลา และ วัฒน์ วรรลยางกูร ก็คือสมาชิกผู้ทรงเกียรติคนหนึ่งของขบวนการนั้น แต่คำถามจากยุคสมัยนี้คือ “คนตุลา” ขณะนี้เหลือศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์ที่แท้เหลืออยู่กี่คน ผมมั่นใจว่า หลายคนที่เคยรัก เคยหวัง และเคยใฝ่ฝัน วันนี้ต่างจบสิ้นลงไปแล้วอย่างสิ้นไร้ไม้ตอก หรือไม่ก็ใกล้อวสาน ในขณะที่ วัฒน์ วรรลยางกูร เพิ่งจะเริ่มต้นรอบใหม่ในชีวิต

ในฐานะคนเขียนกลอนที่มิใช่กวี ผมคงสรุปความเป็น วัฒน์ วรรลยางกูร เท่าที่ผมจะมีปัญญาได้อย่างนี้...

วัฒน์ วรรลยางกูร ตั้งศูนย์ล้อ
ไม่ใช่คลอ ไม่ใช่เคียง เข้าเสี่ยงสู้
เหนือครรลองมองชัดใครศัตรู
จึงเป็นผู้ รู้ ตื่น และเบิกบาน

มือจับงานวัฒนธรรมนำแนวรบ
รวมพล-กบนอกกะลา-มหาศาล
ระบอบชาติศาสตร์ไสยไม่ต้องการ
สร้างสายธารสะพานใหม่ใส่เสรี

คือกวีปราบกบฎคดโกงชาติ
แผ่อำนาจครอบงำย่ำศักดิ์ศรี
เสกอักษรร่วมผสมอารมณ์กวี
คืนความดี ความงาม และความจริง.


จักรภพ เพ็ญแข
นอกราชอาณาจักรไทย
วันพุธที่ ๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗


********************************************************************
สนใจหนังสือ ของกวีประชาธิปไตย 
สั่งซื้อได้ที่ ร้านจักรภพ (ทีพีนิวส์) 
ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว ชั้น 5 
โทร. 085-5049944
หรือสั่งซื้อทางเว็บไซด์ www.jakrapob.com